สถานการณ์การเมืองในเวลานี้ แทบจะในทุก “มิติ” มีภาพของการปะทะกันทางความคิดระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้น
รัฐบาลคือพรรคเพื่อไทยที่มี นปช.สนับสนุนอยู่หนุนหลัง ขณะที่ฝ่ายค้านซึ่งเวลานี้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่ยังมี “ฝ่ายค้าน” ใน “ภาคสังคม” เกิดขึ้นด้วย
ต้องยอมรับว่า จากเดิมที่ผ่าน 1 ปีของการเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี หลายต่อหลายฝ่ายเชื่อว่า สถานการณ์การเมืองจะนิ่งไปซักพัก แต่พลันที่เกิดการพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี การเมืองก็เกิด “แรงกระเพื่อม”ตามมาทันที ไม่ใช่แรงกระเพื่อมในมิติทางการเมืองเท่านั้น แต่ลุกลามไปถึงมิติด้านการบริหารงานของรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ด้วย
ในมิติทางการเมืองเกิดสภาพ “ความเห็นต่าง” ซึ่งนับวันจะกลายเป็น “ความขัดแย้ง” ขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยและกลุ่มนปช.หลังเกิดการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดองเข้าสู่การพิจารณาของสภา จากที่ถกเถียงและตั้งแง่กันระหว่าง ส.ส. สายคนเสื้อแดงกับ ส.ส. สายอีสานซึ่งใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยฝ่ายหนึ่งต้องการ พ.ร.บ.ปรองดองหรืออีกชื่อหนึ่งคือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” ขณะที่อีกฝ่ายต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบ “เป็นพวง” จนถูกวิจารณ์หรือการที่เห็นต่างเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่เรียกว่า “สับขาหลอก”
ดูเหมือน “น้ำหนัก” ของการคัดค้านเริ่มรุนแรงขึ้นจากการที่ญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 53 ที่นำโดยแม่และน้องชายของ น.ส.กมลเกด หรือน้องเกด ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ศพที่เสียชีวิตอยู่ภายในวัดปทุมวนารามเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 ออกมา “คัดค้าน” ไม่เอาทั้ง พ.ร.บ.ปรองดองและ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมองว่า เป็นการเอาประโยชน์ของฝ่ายการเมืองโดยที่ประชาชนที่เป็นญาติของผู้สูญเสียไม่ได้อะไร โดยเฉพาะการแสวงหาความจริงของเหตุการณ์เพื่อให้เกิดความยุติธรรมขึ้นในบ้านเมือง
การ “คัดค้าน” ในครั้งนี้ย่อมไม่เป็นผลดีกับการเคลื่อนไหวเพื่อพา พ.ต.ท.ทักษิณ “กลับบ้าน” แบบไม่มีความผิดตามที่ ร.ต.อ.เฉลิม ได้ประกาศไว้ว่า ภายในปีนี้ “กลับมา” อย่างแน่นอน
ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 68 ซึ่งดำเนินไปทั้งในส่วนของกรรมาธิการและในศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนี้ถือเป็น “ระเบิดเวลา” ทางการเมืองระหว่างฝ่ายหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยและระบุให้อีกฝ่ายเป็นผลผลิตของการรัฐประหาร 19 ก.ย.กับอีกฝ่ายที่มองว่า เป็นพวกเผด็จการรัฐสภา ที่กำลังออกกฎหมายและแก้ไขกติกาเพื่อให้พรรคพวกของตัวเอง “พ้นผิด” นอกจากจะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างส.ส.พรรคเพื่อไทยกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ความขัดแย้งยังลุกลามลงถนนไปถึง “มวลชน” ของทั้งสองฝ่ายด้วย
สภาพอย่างนี้ที่มองว่าเป็นการพยายามหาประโยชน์ทางการเมืองจนเกิดการต่อต้านขึ้น โดยเฉพาะการต่อต้านที่เกิดจากพวกเดียวกันเอง ซึ่งวันนี้กำลังจะกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ให้กับอีกฝ่ายซึ่งอยู่ตรงข้ามรัฐบาล
ใช่แต่การเมืองเท่านั้น การบริหารงานของรัฐบาลก็ถูก “ท้าทาย” และถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสินค้าราคาแพง ปัญหาราคาพลังงานที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาหนี้สิน เรื่อยไปจนถึงการกู้เงินซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า ไม่คุ้มค่า ไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ
กรณีเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ที่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา มิหนำซ้ำยังเกิดปัญหา “ผุดซ้ำ” ขึ้นมา เช่นกรณี หมู่บ้านผีที่ จ.ชัยภูมิ ที่มีการแอบอ้างใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อหวังที่จะรับเงินชดเชยจากการสร้างเขื่อนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทนี้
หรืออย่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ที่แม้จะผ่านขั้น “รับหลักการ” ไปด้วยเสียงข้างมาก แต่การทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” ของพรรคประชาธิปัตย์ก็ฝากความรู้สึก “สงสัยกังขา” ที่มีต่อรัฐบาลไว้ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณจัดซื้อ “รถตู้โรงเรียน” ของกระทรวงศึกษาธิการที่มี “ราคาแพง” กว่าความเป็นจริง จนสุดท้ายเมื่อถูกจับได้ไล่ทัน รัฐบาลต้องหาทางออกด้วยการบอกว่าเป็นการ “พิมพ์ข้อมูลที่ผิด” ซึ่งในความเป็นจริงไม่น่าจะเกิดความผิดพลาดชนิด “โจ๋งครึ่ม” ได้ถึงขนาดนี้ เพราะกรณีเช่นนี้ หากไม่ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วน จนถูกท้วงติงโอกาสจะผ่านไปและกลายเป็นความเสียหายในที่สุดก็จะมีขึ้น
หรือกรณีการ “รับจำนำข้าว” ที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังต่อ “จิ๊กซอว์” ตัวใหม่ขึ้นจากที่ก่อนหน้านี้เน้นไปที่การระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ มาเป็นการซื้อขายข้าวแบบมีส่วนต่างซึ่งล้วนทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณของชาติทั้งสิ้น ที่สำคัญยัง “ทวงถาม” ไปถึงคำพูดของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า หากโครงการ “รับจำนำข้าว” เกิดความเสียหาย “มากกว่า” โครงการประกันรายได้ จะแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
นั่นเป็นเรื่องในสภาของนักการเมือง ขณะที่เรื่องข้าราชการ ก็เกิดปัญหาชนิดตกเป็นข่าวหน้า 1 คือปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างกลุ่มแพทย์ชนบท กับ รมว.สาธารณสุขที่ชื่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เกิดการชุมนุมต่อต้านแต่งดำ เผาโลงเผาหุ่นและการชุมนุมขับไล่ หรือปัญหาในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติหรือ สวทช.กับ วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์ฯ จนเกิดภาพแต่งชุดดำประท้วง
หรือกรณีปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มคนต่าง ๆ
ล่าสุดกรณีศาลปกครองที่มีคำสั่งว่า การย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ครั้งทำหน้าที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ชอบโดยให้คืนเก้าอี้ให้กลับมาอย่างเดิม ตรงนี้แม้จะมีขั้นตอนให้ได้ “อุทธรณ์” แต่ก็เป็นแค่การประวิงเวลา กรณีนี้จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลในช่วงที่เข้ามาทำหน้าที่ที่ยกเหตุผลว่ามาจากประชาชนนั้น ก็ไม่สามารถทำผิดกฎหมายด้วยการย้ายข้าราชการเพราะไม่พอใจหรือยืนอยู่ตรงข้ามกันได้
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับข้าราชการประจำเหล่านี้จึงสะท้อนความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลและกลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” อีกแนวหนึ่ง
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของภาคสังคมภาคประชาชน ซึ่งดำเนินไปภายใต้ขอบเขตของกฎหมายก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวนี้น่าจะมีเป้าหมายที่การให้ความคิด “คนชั้นกลาง” ทั้งเรื่องการเมืองและเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล
ปรากฏการณ์ “หน้ากากขาว” หรือการเกิดขึ้นของ “ไทยสปริง” จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์เล็ก ๆ ที่รัฐบาลเสียงข้างมากมองข้าม ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ซึ่งน่าจะเคลื่อนไหวและพัฒนาต่อยอดไปโดยเน้นเป้าหมายไปที่ “ระบอบทักษิณ” เป็นสำคัญ อาจจะเกิดการกลับมาของกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ “รอบใหม่” ในเร็ว ๆ วันนี้ก็เป็นได้
ในสถานการณ์ที่มี “ศึกรอบด้าน” มากขึ้นในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ภาวะผู้นำ” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่วันนี้เลือกใช้วิธีการสื่อสารกับประชาชนด้วยภาพลักษณ์ของคนทำงาน ความตั้งใจ แต่สิ่งที่ขาดหายและถูกถามมากขึ้นคือ การกล้าตัดสินใจต่อการแก้ไขในแต่ละปัญหา มากกว่าจะโยนให้เป็นเรื่องของกระทรวงนี้กระทรวงนั้น เรื่องของพรรคการเมือง เรื่องของ ส.ส.เรื่องของสภา
ในสภาพที่รัฐบาลกำลังถูกรุกและถูกส่งสัญญาณจากอีกฝ่ายว่า หากยังปรารถนาจะเดินหน้าทางการเมืองต่อไปจนลืมและเอาการแก้ไขปัญหาของประชาชนไว้เป็น “ลำดับรอง” โอกาสของการเผชิญหน้าก็จะมากขึ้น
จากที่เคยเชื่อมั่นและให้โอกาสในการทำงาน แต่ระยะเวลาผ่านไป 1 ปีกับอีก 9 เดือน กลับมีแต่ “คำถาม” และความสงสัย
ถ้าจะเดินหน้าตาม “ธงการเมือง” ที่ตั้งไว้ มีหวังรัฐบาล “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ได้เหนื่อยแน่.
ส่องปรากฏการณ์ แนวร่วมมุมกลับ ศึกรอบด้านรุมเร้ารัฐบาล พี่คนแรก
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ส่องปรากฏการณ์ แนวร่วมมุมกลับ ศึกรอบด้านรุมเร้ารัฐบาล พี่คนแรก