วันนี้( 24 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางสถานีโทรทัศน์บลูสกายแชแนล
ถึงกรณีที่กระทรวงยุติธรรม จะทำหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิการเมือง เกี่ยวกับการทำงานของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า จากกรณีที่มีข่าวว่ามีรัฐมนตรีได้ท้วงระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีผู้ที่ถูกลงโทษควรมีสิทธิในการอุทธรณ์ไปยังองค์กรที่ใหญ่กว่า ซึ่งถ้าเราติดตามจะพบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินในคดีที่ดินรัชดา คดีการยึดทรัพย์ จึงมองได้ว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นการดิสเครดิตองค์กรยุติธรรม และรายงานของรัฐบาลก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงใน 2 ประเด็น คือ 1.รัฐธรรมนูญ ปี 50 เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และ2.หลายประเทศในยุโรป จะไม่ให้มีการอุทธรณ์ กรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำทุจริต โดยเขาใช้ศาลสูงจัดการเหมือนกัน
ส่วนกรณีที่กระทรวงมหาดไทย จะจัดเวทีประชาเสวนานั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นห่วงว่า
จะไม่ทำตามหลักวิชาการตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า และกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล เพื่อหาคำตอบเรื่องนิรโทษกรรมและรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้เสียงบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชน และไม่มีความชอบธรรมเบี่ยงเบนไปตามกรอบที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ โดยเฉพาะคู่มือของวิทยากร แผ่นพับ บทสรุป น่าเป็นห่วง ดูแล้วอันตราย เพราะดูเหมือนตั้งไว้เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของรัฐบาล และที่มีการสรุปมาก็เป็นแบบเอียงข้าง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการสรุปว่า สาเหตุที่เกิดความขัดแย้ง เพราะมีคนไม่อยากสูญเสียอำนาจ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ถือว่า เอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเล่นงานฝ่ายอื่น จึงน่าติดตามดูเวทีนี้ที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ โดยถ้าคำตอบออกมาไม่ถูกใจรัฐบาล รัฐบาลก็คงจะฉีกข้อสรุปอีก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปรองดองแห่งชาติ ฉบับร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี
เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ นั้น ตนอยากให้ย้อนกลับไปตั้งแต่วันที่ร.ต.อ.เฉลิม เคยให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบ ซึ่งวันนั้นมีตัวเงินตัวทองเดินผ่านวงสัมภาษณ์ และร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า ขนาดตัวเงินตัวทองยังเห็นด้วย จึงไม่แปลกที่ตัวเงินตัวทองจะไปร่วมอยู่ในการยื่นร่างพ.ร.บ.ปรองดองฯ ด้วย โดยทางกลุ่มส.ส.ที่ไปยื่นก็รู้สึกภูมิอกภูมิใจบอกว่า แม้แต่ตัวเงินตัวทองยังปรองดองด้วย ถ้าคิดเช่นนั้นตนก็คงยอมแพ้ ทั้งนี้ยืนยันว่า แม้จะมีการตัดมาตรา 5ออกไป ก็ยังคงเป็นกฎหมายการเงินอยู่ดี เพราะในมาตรา 4 กำหนดเรื่องสิทธิในการเรียกร้องทรัพย์สินคืนจากรัฐ ซึ่งต้องดูต่อไป เพราะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของประธานสภาฯ หากเห็นว่า เป็นกฎหมายการเงิน ก็ต้องส่งให้นายกฯ เซ็นรับรอง แต่หากมีการยืนยันว่า ไม่เกี่ยวกับกฎหมายการเงิน ถ้ากระบวนการไม่ชอบก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เราสามารถนำหลักธรรม อริยสัจสี่ยึดหลักคุณธรรม จริยธรรม ดูกันด้วยเหตุ ด้วยผล แก้ปัญหาจากต้นเหตุ มาหาทางออกให้กับประเทศได้