พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) ให้สัมภาษณ์ชี้แจงถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมพื้นที่ในวันที่มีเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ว่า
ห้างดังกล่าวถูกเผาในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. ซึ่งขณะนั้นทางเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุได้ ทั้งนี้ ในขณะที่เพลิงกำลังเริ่มไหม้มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงพยายามจะเข้าไปดับไฟ แต่ถูกยิงต่อต้านจากกำลังไม่ทราบฝ่ายจนต้องถอยออกมา และได้ติดต่อมาที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อขอกำลังคุ้มครอง ทำให้ต้องส่งเจ้าหน้าที่ทหารบางส่วนไปจากทางด้านเพลินจิต เพื่อคุ้มครองการดับเพลิง แต่เนื่องจากพื้นที่ยังคงไม่มีความปลอดภัยจึงต้องถอยกลับออกมา โดยเจ้าหน้าที่ทหารจากแยกปทุมวันก็พยายามเคลื่อนที่เข้ามา เพื่อคุ้มครองการดับเพลิงด้วยเช่นกัน แต่ต้องตัดสินใจหยุดอยู่แถวสถานีรถไฟฟ้าสยาม เพราะถูกต่อต้านด้วยอาวุธ อีกทั้งเกรงว่าถ้าในพื้นที่ยังคงมีการใช้อาวุธกันแล้ว อาจจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำจากเจ้าหน้าที่ทหาร ทำให้การเข้าพื้นที่เป็นไปด้วยความระมัดระวัง ซึ่งกว่าจะเข้าไปได้จริงก็เป็นช่วงเช้าของวันรุ่งขึ้น โดยทุกจุดได้ถูกเผาทำลายเสียหายไปจนหมดแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในช่วงเวลาที่ห้างถูกเผา
พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ส่วนที่มีทีมดับเพลิงของ พ.ต.ท.ชุมพล บุญประยูร ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านอัคคีภัยกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา อ้างว่าถูกทหารสกัดไม่ให้ไปดับไฟในบริเวณห้าง เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะไปพิจารณาเอาเองจากการแต่งกาย ซึ่งในปัจจุบันการแต่งกายคล้ายทหารจะพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ได้มีแต่เฉพาะเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่สวมใส่ และที่สำคัญที่ผ่านมามีผู้ที่กระทำความผิดหลายคนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ ก็จะแต่งกายในลักษณะนี้หลายคน
พ.อ.วินธัยกล่าวต่อว่า สำหรับที่มีการเผยแพร่ในสื่อผสม (วีทีอาร์) ในกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาระบุขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของทหารโดยอ้างอิงมาจากบทความที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับกันยายน-ธันวาคม 2553 เรื่อง “บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม 7 พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม 2553” เขียนโดย พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ ที่แม้จะเป็นข้าราชการทหารแต่ก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่โดยตรงที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการปฏิบัติภารกิจในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ที่สำคัญบทความดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในนามของหน่วยงานได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสรับทราบข้อมูล และได้ศึกษารายละเอียดเอกสารต่างๆ อย่างเป็นทางการรอบด้านจากหน่วยงานที่รับผิดชอบจริงแล้ว ผู้เขียนจึงได้เขียนปรับใหม่และตีพิมพ์บทความลงในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับที่ มกราคม-มีนาคม 2554 เรื่อง “บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : 9 กรณี ปปส.ในเมือง (มีนาคม-พฤษภาคม 2553)”
“กองทัพบกขอวิงวอนไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองปี 2553 อย่าได้นำเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีองค์ประกอบของข้อเท็จจริงที่ยังไม่ครบถ้วน ไม่ตรงกับสถานการณ์จริง หรืออ้างอิงออกไปเผยแพร่ เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างรอยร้าวและความสับสนให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น กองทัพบกขอย้ำว่าการปฏิบัติภารกิจรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้ปฏิบัติตามคำสั่งและเป็นไปตามกรอบกฎหมาย มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ประสงค์ที่ใช้ความรุนแรง จึงขอให้ทุกฝ่ายได้ใช้ความอดทน ยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินไปในขณะนี้ซึ่งน่าจะดีที่สุด” พ.อ.วินธัยระบุ