'ศาลรัฐธรรมนูญ' มีมติ 7:2 รับวินิจฉัยสมาชิกภาพ สส. 'มาร์ค' หลังกลาโหมสั่งถอดยศ
16 พ.ค.56 นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องของ สส.134 คนให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ม. 91 ว่า สมาชิกภาพของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ม.106 (5) ประกอบม. 102(6)หรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งปลด ร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการนายทหารกองหนุน สาเหตุมาจากเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2531 ว่าที่ร.ต.อภิสิทธิ์ รับราชการเป็นอาจารย์ส่วนการศึกษาโรงเรียน จปร. ได้ใช้เอกสารใบสำคัญ สด. 9 แทนฉบับที่ชำรุดสูญหายลงวันที่ 8 มิ.ย. 2531 อันมีสาระสำคัญอันเป็นเท็จไปประกอบการขึ้นทะเบียนกองประจำการจังหวัดนครนายก จนทำให้เจ้าหน้าที่สัสดีผิดหลงออกใบสำคัญ สด. 3 ลงวันที่ 2 มิ.ย.2531 ขึ้นทะเบียนกองประจำการว่าที่ ร.ต.อภิสิทธิ์ หมายเลขทะเบียนท.บ. 2531 ก.ท.10803 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดศิลธรรม จริยธรรม และแบบธรรมเนียมทหารของนายทหารสัญญาบัตร เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ผิดวินัยทหารร้ายแรง ไม่สมควรให้อยู่ในราชการต่อไป และคณะกรรมการของกระทรวงกลาโหมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุสมควรให้ลงโทษ เนื่องจากกระทำผิดวินัยโดยปลดออกจากราชการ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ลงวันที่ 8 พ.ย.2555
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยด้วยมติ 7 ต่อ 2 และให้นายอภิสิทธิ์ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน โดยตุลาการเสียงข้างน้อย 2 เสียงที่มีมติไม่รับคำร้องไว้พิจารณาคือ นายนุรักษ์ มาประณีต และนายชัช ชลวร ซึ่งมีความเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดียังไม่มีข้อยุติ
นายพิมล แถลงถึงผลการพิจารณาเรื่องที่ นายบวร ยสินทร กับคณะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประธานรัฐสภากับ สส.315 คน ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญและเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญม.190 เป็นคนละกรณีกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.68 ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชน ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญจึงไม่มีมูลที่จะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ศาลมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ส่วนกรณีที่นายวรินทร์ เทียมจรัส ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการตัดสิทธิ์ของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ให้รับคำร้องไว้พิจารณา กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ม.68 ส่วนกรณีที่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ม.190 นั้น มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องในส่วนนี้
โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงด้วยว่าสำหรับเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ม. 74 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ม.39 หรือไม่ โดยฝ่ายผู้ร้องเห็นว่า พรบ.ลิขสิทธิ์ ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำผิดให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ม.39 วรรค 2 ซึ่งบัญญัติว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พรบ.ลิขสิทธิ์ ม.74 ที่ผลักภาระการพิสูจน์ไปให้กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลเป็นบทบัญญัติที่ละเมิดหลักประกันแห่งสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย พรบ.ลิขสิทธิ์ ม.74 จึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ม.39 วรรค 2