เรืองไกร งานเข้า! ศาลรธน.ฟ้อง โทษฐานหมิ่นสถาบันตุลาการ ยันชัช ได้รับโปรดเกล้าฯ โดยชอบ

เรืองไกร งานเข้า! ศาลรธน.ฟ้อง โทษฐานหมิ่นสถาบันตุลาการ ยันชัช ได้รับโปรดเกล้าฯ โดยชอบ


 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงต่อสื่อมวลชน

 ระบุว่า สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวโทษนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าได้มีการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในกรณีที่นายเรืองไกร ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ กล่าวหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีการกระทำที่บิดเบือนพระบรมราชโองการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจตามกฎหมาย และกล่าวหาว่า นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นความผิดข่ายอาญา มาตรา 112 โดยแอบอ้างเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคดี 
  
 และหลังจากได้ยื่นคำร้องดังกล่าวแล้วยังได้ให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ถึงข้อความที่ร้องเรียนด้วย โดยมีการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระ อาทิ การให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ว่า ได้เตรียมยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 748/2555 สรุปได้ว่า นายชัช ชลวร พ้นตำแหน่งด้วยการลาออกตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2554 จึงไม่อาจเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อีก เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 208 แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ยอมให้นายชัช ชลวร เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อไปทั้งที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาข้อเท็จจริงและอ่านคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 

แต่ไม่สามารถมีคำสั่งได้ เนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่พิจารณาไว้ว่า ผู้เสียหายคือคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเอง ดังนั้น การจะรอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฟ้องร้องกันเองคงเป็นไปได้ยาก จึงควรเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลปกครอง ให้พิจารณาหรือมีคำส่งเพิกถอนการกระทำของนายชัช ชลวร ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกทั้งหมด นับตั้งแต่วันที่ลาออกและเพิกถอนผลการกระทำของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ประชุมเลือกนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เพราะผลการประชุมดังกล่าวไม่ชอบ ตกเป็นโมฆะ เพราะมีบุคคลที่ไม่ใช่คณะตุลาการรวมอยู่ด้วย    

 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีดังกล่าวตามความเป็นจริง นายชัช ชลวร ดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันก็ดำรงตำแหน่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญอีกสถานะหนึ่ง ตามที่ได้รับเลือกจากผู้ได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกแปดคน แต่เนื่องจากในการดำเนินการเสนอให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคราวนั้น จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ทั้งคณะเก้าคน จึงได้กระทำพร้อมกันในคราวเดียวกัน โดยการระบุให้นายชัช ชลวร เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นที่พึงเข้าใจของสุจริตชนได้ว่า นายชัช ชลวร ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งสองฐานะคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลรัฐธรรมนูญพร้อมกันในคราวเดียวกัน เพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสนอเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

 ตามหลักของเหตุผลประกอบบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องว่า ผู้ได้รับเลือกเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญต้องมีฐานะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นจึงจะได้รับการเลือก และคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ในวันที่ 11 มิถุนายน 2551 เมื่อนายชัช ชลวร ลาออกเฉพาะจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น มิได้ลาออกออกจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร จึงยังคงดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ อยู่จนถึงปัจจุบัน ดังนั้น การเข้าประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเลือกประธานศาลรัฐธรรมนูญ และพิจารณาวินิจฉัยคดีของนายชัช ชลวร จึงเป็นไปโดยชอบ

 การร้องเรียนของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และการให้ข่าวสื่อมวลชนเป็นการร้องเรียนที่มิได้เป็นการใช้สิทธิร้องขอให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยสุจริต เนื่องจากนายเรืองไกร ได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งให้ข่าว ต่างกรรมต่างวาระ โดยใช้ข้อเท็จจริงที่เป็นเท็จและบิดเบือนมาเป็นฐานในการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดที่เป็นเรื่องร้ายแรงมาก เพราะโดยภาวะวิสัยของนายเรืองไกร ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา มีวุฒิการศึกษาจบปริญญาโท 

ย่อมรู้อยู่ว่าในการเสนอเรื่องเพื่อให้มีพระบราราชโองการแต่งตั้งให้บุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ อันเป็นเรื่องสำคัญซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมต้องมีการพิจารณากลั่นกรองตรวจสอบตามระเบียบปฏิบัติราชการอยู่แล้ว และยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของประธานวุฒิสภา รวมทั้งต้องผ่านการกลั่นกรองของสำนักราชเลขาธิการด้วย ซึ่งครบกระบวนการถูกต้องสมบูรณ์ แต่นายเรืองไกรกลับกล่าวอ้างเป็นเท็จว่า ไม่ชอบเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้แสดงให้เห็นถึงการกระทำโดยไม่สุจริตซึ่งโดยปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไปในสังคมย่อมทราบดีว่ามิได้เป็นไปดังที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะกล่าวอ้างแต่อย่างใด 
   
การกระทำต่างๆ ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ดังกล่าว เมื่อประมวลข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ ประกอบกันโดยตลอดแล้ว บ่งชี้ว่ามีเจตนากระทำการอันเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี อันเป็นการกระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และมาตรา 198
  
 จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ใช้สิทธิปกป้องเกียรติภูมิของศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญอันสืบเนื่องมาจากการที่นายเรืองไกร ได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกระทำการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาลรัฐธรรมนูญและสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตลอดมา โดยการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์