“ปลอดประสพ” โต้เดือด พวกค้าน กบอ.จัดการโครงการป้องกันน้ำ “ลั่น” ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน “กฤษฎีกา” ยัน เป็นตามระเบียบ สำนักนายกฯ
นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ร่วมแถลงข่าวชี้แจงกรณี นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำทางทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ ที่ยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง
เพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านแผนจัดการน้ำ กบอ. ที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการกับ กบอ. โดยนายปลอดประสพ กล่าวว่า ผู้ร้องอ้างว่า การทำทีโออาร์ของ กบอ.นั้นมีความหละหลวม ไม่มีสาระ และข้ามขั้นตอนนั้น ตนยืนยันว่า ทุกขั้นตอนมีที่มาที่ไป และผ่านกระบวนการคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งทุกขั้นตอนมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายกฎหมาย ที่มีตัวแทนอัยการสูงสุด และตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกา
รวมถึงตัวแทนจากกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ เข้าร่วมประชุม และทุกขั้นตอนทีโออาร์มีการตอบข้อซักถาม ของผู้ร่วมประมูลอย่างชัดเจน และเข้าใจเป็นอย่างดี
ไม่มีใครที่อ่านทีโออาร์ไม่รู้เรื่องยกเว้นผู้ที่จะฟ้องศาลปกครองที่อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะจ้องแต่จะหาเรื่อง
นายปลอดประสพ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีกลุ่มบริษัทร่วมค้าไทย-ญี่ปุ่นขอถอนตัวนั้น ทางบริษัทก็ขอบคุณไทยที่ให้โอกาส แต่เป็นที่ถอนตัวเพราะเป็นเหตุผลทางธุรกิจ ส่วนเหตุผลที่ไม่ทำตามคำแนะของ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ไจก้า) นั้น เนื่องจากไจก้าโตเกียวไม่เกี่ยวข้องกับไทย ความคิดเห็นของไจจ้าที่ออกมาเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของบุคคลในองค์กร ไม่ใช่ไจก้าทั้งหมด และไจก้าไม่ได้มีข้อเสนอแนะมาอย่างเป็นทางการ
ตนยืนยันข้อกล่าวหาว่าไม่เป็นความจริง อาทิ ที่ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องก่อสร้าง ฟลัดเวย์ หรือทางน้ำหลากนั้น โดยสามารถใช้คลองเล็กๆในการระบายน้ำและจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ นั้น ตนชี้แจงว่า ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการสร้างฟลัดเวย์ขนาดใหญ่ตามอ่าวสำคัญต่างๆ เช่น อ่าวโกเบ อ่าวโตเกียว ที่สามารถระบายน้ำได้ภายในสองวัน และเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าคลองเล็กๆที่เรามีมากมายไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน
ซึ่งหากเราทำตามข้อเสนอของไจก้าก็จะส่งผลให้เกินงบประมาณที่วางไว้กว่าเท่าตัว เช่นการก่อสร้างฟลัดเวย์ที่เราวางงบไว้ 1.2 แสนล้าน แต่บริษัทญี่ปุ่นที่มี ไจก้า เป็นที่ปรึกษา เสนอราคาไว้ที่ 3.93 แสนล้าน และใช้ระยะเวลาก่อสร้างถึง 20 ปี
นายปลอดประสพ ยังกล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ระบุว่า รัฐบาลผลัดภาระการเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการให้เป็นหน้าที่ของเอกชน ว่า ไม่เป็นความจริง เป็นการปล้นความจริงกลางวันแสกๆ เพราะการเวนคืนที่ดินต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกา และเงินก็อยู่ที่รัฐบาล เอกชนมีหน้าที่เพียงชี้พื้นที่ที่เหมาะสม เอกชนทำเองไม่ได้ เพราะผิดกฎหมายและหลังจากนั้นก็ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพประชาชน ที่เป็นกระบวนการหลัง
จากนี้
ด้านนายอัชพร กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดการยื่นฟ้องของนายอุเทน และยังไม่ทราบว่ามีการฟ้องจริงหรือไม่ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดของ กบอ. ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และระเบียบข้าราชการต่างๆ อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังไม่ทราบว่าผู้ฟ้องกล่าวหาประเด็นอะไร อาจเป็นการไม่เข้าใจในทีโออาร์ หรือไม่เข้าใจในเรื่องเทคนิค ทั้งนี้ หากศาลปกครองได้รับคำร้องดังกล่าวไว้อาจจะกระทบกับโครงการบ้าง และหากมีการคุ้มครองชั่วคราว โครงการตามทีโออาร์ อาจจะต้องชะลอไว้ก่อน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงอาจจะต้องทำให้กรมชลประทานดำเนินการโครงการต่างๆ เอง และจะต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนปกติ ส่วนพ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่จะครบกำหนดภายในเดือนมิ.ย.นั้น จะไม่มีผลกระทบ เพราะการคุ้มครองชั่วคราวจะกระทบแค่โครงการในทีโออาร์ เท่านั้น
ขณะที่ นายธงทอง กล่าวเสริมว่า กรรมการที่กำหนดการทีโออาร์ชั้นสุดท้าย ทำด้วยความรอบคอบระมัดระวังดูข้อกฎหมายในมิติต่างๆอย่างครบถ้วน
โดยมีผู้แทนจาก 4 หน่วยงานเข้ามาช่วยดูด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้ยื่นคำฟ้องไปก็ถือเป็นสิทธิ์ แต่การยื่นต่อศาลปกครองต้องเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายในกรณีดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งการปกครองใดๆเกิดขึ้นเลย ส่วนบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงนั้นต่างก็ไม่ได้มีข้อทักท้วงแต่อย่างใด ดังนั้นหากศาลรับคำฟ้องสำนักงานปลัดสำนักนายกฯพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับสำงานการอาญาการสูงสุดในการอธิบายหรือแก้คำฟ้องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายธงทอง เปิดเผย ว่า วันที่ศุกร์ที่ 3 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00 น.- 14.00 น. บริษัทที่รับทีโออาร์ไปจะมายื่นซองประกวดราคา คาดว่าเอกสารที่มาคงจะเป็นจำนวนมากทั้งนี้คณะกรรมการจะใช้เวลาอ่านประมาณ 3 สัปดาห์ ใช้ทีมงานในการอ่านประมาณ 50 คน และจากนนั้นจะรายงานผลการอ่านซึ่งเป็นผลทางเทคนิคในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะดูคะแนนทางเทคนิคและราคา และจะดูว่าสามารถต่อรองกับบริษัทที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 ได้หรือไม่ หากเห็นว่าไม่มีบริษัทใดเสนอเป็นที่น่าพอใจ ก็อยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการ ว่าจะนำไปสู่การทำสัญญาหรือไม่