จับตาป่วน'ครบรอบกรือเซะ-ล้มโต๊ะเจรจา'
จับตา35คอนมานโด150นักรบโจ๋ ป่วน'ครบรอบกรือเซะ-ล้มโต๊ะเจรจา' : ทีมข่าวความมั่นคง
ทุกวันที่ 28 เมษายนของทุกปี หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอและอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะเฝ้าระวังการก่อเหตุความไม่สงบเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นวันครบรอบเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ แต่ในปีนี้ยังต้องเฝ้าระวังเพิ่มอีกชั้น เพราะวันที่ 29 เมษายนนี้ จะเป็นการพูดคุยเพื่อสันติภาพรอบที่สามระหว่างทางการไทยกับกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็น
ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรง ทั้งเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการของทหาร การลอบวางระเบิดสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ และขึ้นป้ายผ้าต่อต้านการเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การพูดคุยรอบแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา !!!
หน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่แจ้งเตือนว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีกองกำลังชุด "คอมมานโด" ของกลุ่มขบวนการ จำนวน 35 คน "อำพรางสถานะ" เข้ามาทางด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อเตรียมปฏิบัติการครั้งใหญ่ในห้วงวันครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ และการนัดพูดคุยเพื่อสันติภาพในวันที่ 29 เมษายน นี้ ที่ประเทศมาเลเซีย
"กลุ่มก่อความไม่สงบจะอาศัยเวลาค่ำคืนแทรกซึมเข้ามาเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่รู้ตัว โดยเดินทางมาจากรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งในปีนี้ถือเป็นวันครบรอบ 9 ปี ส่วนเป้าหมายที่ล็อกเป้าเอาไว้ คือ พื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พื้นที่ จ.ปัตตานี พื้นที่ จ.ยะลา และอ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส โดยมีเป้าหมายในย่านธุรกิจ รวมถึงข้าราชการระดับสูง"
หน่วยข่าวความมั่นคงยังให้ข้อมูลด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีแนวร่วม "เยาวชนรุ่นใหม่" เข้าร่วมด้วยประมาณ 150 คน สมทบด้วยชุดคอมมานโด จากรัฐกลันตัน และรัฐตรังกานู ซึ่งแทรกซึมผ่านเข้ามาทางชายแดนไทย-มาเลเซีย ในช่วงก่อนที่ประเทศมาเลเซียจะมีการปิดชายแดน เพราะจะมีการเลือกตั้งภายในประเทศมาเลเซียในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้
ทั้งนี้ ทางการข่าวสืบทราบว่า กลุ่มขบวนการดังกล่าวใช้พาหนะในการเดินทางเข้าพื้นที่ จำนวน 4 คัน ประกอบด้วย 1.รถกระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดีแมคซ์ สีบรอนซ์เงิน 2.รถกระบะยี่ห้ออีซูซุ รุ่นดราก้อนอาย สีเขียว 3.รถกระบะมิตซูบิชิ รุ่นไทรทัน สีดำ และ 4.รถเก๋งยี่ห้อโตโยต้า รุ่นยาริส สีเปลือกมังคุด
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการระหว่างการลงพื้นที่เมื่อเร็วๆ นี้ให้มีการปรับแผนรองรับสถานการณ์ในพื้นที่ให้เข้มข้นมากขึ้นด้วย
แหล่งข่าวความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประเมินว่า สถานการณ์ในพื้นที่จะยังคงมีความรุนแรงอยู่ เพราะปรากฏความเคลื่อนไหวของสมาชิกระดับแกนนำปฏิบัติการและเครือข่ายมีการเตรียมพร้อมวัตถุระเบิด โดยเฉพาะ "จักรยานยนต์บอมบ์"
ขณะที่ นายอิสมาแอ ระยะหลง แกนนำปฏิบัติการคนสำคัญก็สั่งการให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธเข้ามาเพื่อก่อเหตุใน อ.รามัน จ.ยะลา รวมถึงสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา
แหล่งข่าวความมั่นคงคนเดิมระบุว่า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมที่อาจเร่งให้มีการก่อเหตุเพิ่มขึ้น เช่น การจับกุมแกนนำในพื้นที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี และอ.เมือง จ.ยะลา รวมถึงวันครบรอบวันสำคัญของขบวนการ รวมทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพพยายามสร้างเหตุรุนแรงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ในวันที่ 29 เมษายนนี้
“เจ้าหน้าที่ได้เพิ่มมาตรการดูแลความปลอดภัยในเขตเทศบาลเมืองนครยะลา เทศบาลเมืองปัตตานี และพื้นที่รอยต่อ เพราะอาจมีการวางระเบิดป่วนเมืองพร้อมกันหลายจุด ส่วนพื้นที่รอบนอกทั้ง อ.รามัน อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา, อ.สายบุรี อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี, อ.รือเสาะ อ.ตากใบ และอ.จะแนะ จ.นราธิวาส อาจมีการซุ่มโจมตีฐานปฏิบัติการ”
แหล่งข่าวคนเดิมเผยว่า การปฏิบัติการจะทำในลักษณะการโจมตีโฉบฉวย บริเวณจุดตรวจ หรือจุดสกัดต่างๆ เพื่อลวงเจ้าหน้าที่ให้เข้าตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุแล้ว "ดักสังหารซ้ำ" รวมทั้งการลอบสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูง และคนไทยพุทธที่อาจใช้ชีวิตประจำวันตามวงรอบเดิมซ้ำๆ ซึ่งจะทำให้ตกเป็นเป้าของกลุ่มที่ก่อเหตุได้ง่าย
เขากล่าวย้ำด้วยว่า กลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นมีความขัดแย้งกันจริงระหว่างระดับผู้นำสูงสุด ซึ่งรับผิดชอบฝ่ายการเมือง กับแกนนำฝ่ายกองกำลังในพื้นที่ เพราะกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ และรุ่นต่อไปจะได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อ "เอกราช" เพียงอย่างเดียว ไม่มีการเจรจา โดยมุ่งการใช้อาวุธต่อเป้าหมายอ่อนแอ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ โดยยึดแนวทาง "การปฏิวัติสากล"
ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเจ้าหน้าที่มีข้อมูลยืนยันจากการตรวจยึดเอกสารที่บ้านภรรยาของ นายซุลกิฟลี มาม๊ะ หัวหน้า KOMPI ซึ่งเป็นผบ.ร้อย และผบ.เขตทหารย่อยที่ 1 KAM 2 ใน อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ข้อมูลที่มี ทั้งยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว ยุทธวิธีการปฏิบัติงาน และแผนปฏิบัติการ ทำให้เห็นชัดเจนว่า การกล่อมให้กลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ยอมเข้าร่วมวงเจรจาเหมือนกลุ่มทางการเมือง และกลุ่มผู้นำทางศาสนาในต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการก่อเหตุความรุนแรงในห้วงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะต่อเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่สวนทางกับประเด็นบนโต๊ะเจรจาโดยสิ้นเชิง