“นพดล” โพสต์เฟซบุ๊กแจง 7 ข้อ ยันแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาสมัยรัฐบาลสมัคร ปกป้องกันไม่ให้กัมพูชาได้พื้นที่ทับซ้อน4.6 ตร.กม. ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ลั่นไม่ได้ทำไทยเสียดินแดน
นพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตรมว.ต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ที่มีชื่อว่า “Noppadon Pattama” โดยมีเนื้อหาว่า “มีสื่อฉบับหนึ่งเขาประจำ เขียนว่าคำแถลงการณ์ร่วมที่รัฐบาลสมัครทำเป็นการยกพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรให้กัมพูชา ผมอ่านแล้วสลดใจในความเท็จที่สื่อนี้ขยันเขียน ขอเรียนว่าเป็นความเท็จครับ
คำแถลงการณ์ร่วมทำขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กัมพูชาได้พื้นที่ทับซ้อน4.6 ตารางกิโลเมตรไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกครับ ไม่ใช่เป็นการยอมให้เขาได้พื้นที่ไป นี่คือข้อเท็จจริงครับ
1. ถ้ากัมพูชาได้พื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามคำแถลงการณ์ร่วมแล้ว เขาจะมายื่นตีความในศาลโลกเพื่อจะให้ได้ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปเพื่ออะไร จริงมั้ยครับ ที่เขามายื่นเพราะยังไม่ได้ไป และประเทศไทยต้องไม่ยอมให้เขาได้ไปครับ
2. ทุกคนเห็นตรงกันว่ากัมพูชาต้องการเอาทั้งตัวปราสาทและพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรไป ขึ้นทะเบียนมรดกโลกฝ่ายเดียวและนี่เป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลไม่ยอมและคัดค้านไม่ให้ฮุบพื้นที่ทับซ้อนครับ
3. เอาให้ชัดๆนะครับ รัฐบาลสมัครสนับสนุนให้เขาขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้นครับ เพื่อให้เขายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออกไม่เอาไปขึ้นทะเบียน เราไม่เคยสนับสนุนให้เขาขึ้นทะเบียนพื้นที่ทับซ้อนครับ เพราะเป็นพื้นที่ของเรา (ข้อเท็จจริงคือ ตัวปราสาทเป็นของเขาตามคำตัดสินของศาลโลกมา 51 ปี แล้วครับ)”
4. ปชป. และพันธมิตรฯโจมตีคำแถลงการณ์ร่วม แต่ทีมทนายความของไทยในศาลโลกในขณะนี้เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดี ท่านจะเชื่อใครครับ
5. ผมพูดหลายครั้งครับว่าถ้าคำแถลงการณ์ร่วมมันมีผลเสียต่อฝ่ายไทย ทำไมข้าราชการกระทรวงต่างประเทศ กองทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และครม.สมัยรัฐบาลสมัครเห็นว่าเป็นประโยชน์และเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่ายครับ
6. ถ้าไม่มีคำแถลงการณ์ร่วม กัมพูชาเอาพื้นที่ 4.6 ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปแล้ว แต่เพราะเอกสารชิ้นนี้เขาจึงยอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น แม้แต่ท่านทูตวีรชัย และศาสตราจารย์เปลเล่ ทนายของไทยชาวฝรั่งเศส ก็กล่าวแถลงด้วยว่าจาต่อศาลโลก ถึงผลลัพธ์ของคำแถลงการณ์ร่วม ว่ากัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทเท่านั้น (ไม่รวมชะง่อนเขาที่มีพื้นที่กว้าง ถ้ำ หน้าผา) เอกสารอ้างอิง มติคณะกรรมการมรดกโลกข้อ 9 วันที่ 7 ก.ค. 56 ในเวปไซท์คณะกรรมการมรดกโลกครับ
7. ไม่มีตอนไหนเลยครับที่ทนายของกัมพูชาเขาอ้างว่าเขาได้ 4.6 ตารางกิโลเมตรไปตามคำแถลงการณ์ร่วม เขาเพียงลำดับเหตุการณ์ว่ารัฐบาลไทยเคยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตัวปราสาท แต่เราไม่เคยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนพื้นที่ทับซ้อนครับดูเพิ่มเติม