เปิดร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ “เฉลิม” ระบุ 6 มาตรา ล้างความผิดทุกฝ่าย เริ่มนับหนึ่งประเทศไทย มีผลครอบคลุม 19 ก.ย.2549 ถึงวันประกาศใช้ ปัดไม่มีเนื้อหาคืนเงิน “ทักษิณ” ส่วน “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ได้อานิสงส์ด้วย เตรียมลา ครม.2 สัปดาห์เดินสายหาแนวร่วม ก่อนเสนอสภา ส.ค.นี้
ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่จะมีการนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาในการประชุมสภาสมัยหน้าว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองดังกล่าว ตนยกร่างไว้นานแล้วมีทั้งหมด 6 มาตรา เนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 จนถึง พ.ร.บ. นี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะได้รับผลบวกทั้งหมดไม่ยกเว้นบุคคลหนึ่งบุคคลใด
โดยไม่มีเรื่องการเงินมาเกี่ยวข้อง และที่เสนอต่อที่ประชุมส.ส.ของพรรครับทราบก่อนเสนอเข้าสู่วาระพิจาณาของสภา เพราะต้องการให้ทางพรรคเพื่อไทยทราบว่า ตนจะเดินทางรณรงค์เรื่องดังกล่าวในช่วงที่สภาปิดสมัยประชุมโดยเริ่มจากวันที่ 27 เม.ย. ที่ จ.ขอนแก่น
จากนั้นจะเดินสายทั่วอีสาน และในวันที่ 24 พ.ค. ตนจะปราศรัยใหญ่ที่ทุ่งสีเมือง จ.อุดรธานี โดยจะยื่นหนังสือลาต่อ ครม. 2 สัปดาห์เพื่อเดินสายรณรงค์อธิบายให้เข้าใจครบทุกพื้นที่ ภายใต้ชื่อ “นับหนึ่งประเทศไทย” การเดินสายครั้งนี้ไม่ได้ทำในนามรัฐบาลแต่จะทำในนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากทำต่อแล้วทางพรรคเพื่อไทยเห็นดีด้วยจะนำไปเป็นร่างของพรรคก็ได้ หรือหากคนเสื้อแดงเห็นเดียวด้วยก็สามารถดำเนินการได้เช่นเดียวกัน
“การเมืองขณะนี้ สิ่งต่างๆจะดำเนินการโดยสภาอย่างเดียวไม่สำเร็จ ต้องให้ประชาชนทั้งประเทศเกิดความเข้าใจ รวมถึงพรรคการเมือง
จะส่งร่างพ.ร.บ.ปรองดองฉบับดังกล่าวให้ทุกพรรคการเมือง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนสถาบันการศึกษา องค์กรต่างๆ เพื่อรับฟังความเห็นถ้าตกผลึกแล้วจะเดินหน้า ผมไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นใคร แต่ครอบคลุมทุกคน จะนับหนึ่งประเทศไทย จะได้เลิกทะเลาะกันเสียที และร่างพ.ร.บ.ปรองดองไม่เกี่ยวกับเรื่องการเงินหรือการคืนเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
เมื่อถามว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ประกาศจะไม่รับผลจากร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า การออกกฎหมายนั้นจะยกเว้นตัวบุคคลไม่ได้ พร้อมกันนี้ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงคนเดียวและไม่เคยให้ พ.ต.ท.ทักษิณดูร่างดังกล่าวก่อน อีกทั้งยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
จากนั้นเวลา 12.00 น. ร.ต.อ.เฉลิม ได้แจกจ่ายร่างพ.ร.บ.ปรองดองแก่สื่อมวลชนพร้อมให้สัมภาษณ์อีกครั้ง โดยแสดงความมั่นใจว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองจะไม่เพิ่มสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศ เพราะทุกคนได้ประโยชน์ คนต้องการปรองดองกันทั้งประเทศ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ โดยได้มอบหมายนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย รับผิดชอบเสนอเข้าสู่สภาเมื่อเปิดสมัยประชุม ในเดือน ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับร่างดังกล่าว ใช้ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.ประกอบด้วยเนื้อหา 6 มาตรา ส่วนแรกระบุหลักการและเหตุผลว่า ตั้งแต่ พ.ศ.2549 เป็นต้นมา ประชาชนเกิดความคิดเห็นแตกต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มีผลกระทบต่อความสามัคคีคนในชาติ สมควรที่จะยุติความบาดหมางและเสริมสร้างความสามัคคีคนในชาติขึ้นใหม่เพื่อเริ่มต้นการพัฒนาประเทศและดูแลทุกข์สุขของคนในชาติ ตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างสมานฉันท์
ขณะที่สาระสำคัญอยู่ที่มาตรา 3 ระบุว่า “บรรดาการกระทำทั้งหมดของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวในระหว่างพ.ศ.2549 จนถึงวันที่พ.ร.บ.นี้บังคับใช้
หากมีการกระทำใดผิดกฎหมาย ไม่ว่าได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้กระทำหรือผู้ถูกใช้ให้กระทำ ไม่เป็นความผิดต่อไปและให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง และให้ระงับการสอบสวน ระงับการฟ้องร้อง หรือถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดีก็ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วให้ถือผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษา ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษสิ้นสุด
โดยให้นำความใช้บังคับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการป้องดันระงับหรือปราบปรามเหตุชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นทางการเมืองหรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ มาตรา 5 ในกรณีมีผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองหรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และมาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพ.ร.บ.นี้