“ปึ้ง”ชมทีมสู้คดีของไทยทำได้ดี หักล้างข้อมูลเขมรอื้อ ชี้ให้ศาลเห็นว่าพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 กับ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่เดียวกัน
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ทางไกล กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ว่า ฝ่ายไทยให้ข้อเท็จจริงหักล้างคำโต้แย้งของกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งได้เตรียมแนวทางการต่อสู้ 2 แนวทาง คือ ขอให้ศาลไม่รับคดีไว้พิจารณา แต่หากศาลรับคดีไว้พิจารณาจะขอให้ศาลตัดสินว่าไม่มีเหตุผลที่ศาลต้องตีความใดๆ เพราะคำพิพากษาในอดีตมีความชัดเจน ส่วนประเด็นที่ทีมทนายไทยหยิบยกชี้แจงต่อสู้ สรุปได้ 5 ประเด็นหลัก คือ กัมพูชาการขอตีความครั้งนี้ เป็นการซ่อนการอุทธรณ์คดีเดิม
เพื่อหวังเปลี่ยนคำพิพากษาที่จบไปแล้วเมื่อปี 2505 ซึ่งกัมพูชาขอตัดสินเรื่องเขตแดน กัมพูชาพยายามยืนยันต่อศาลว่าเขตแดนต้องเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1
ทั้งที่ศาลปฏิเสธการตัดสินไปเมื่อปี 2505 และการตัดสินคดีในครั้งนั้นศาลใช้แผนที่ภาคผนวก 1 ตัดสินว่าปราสาทเป็นของใคร ไม่ใช่ตัดสินเรื่องเขตแดน
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า เรายังได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ที่กัมพูชาเรียกร้องให้ตีความครั้งนี้ เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หลังจากที่กัมพูชาต้องการนำปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2554 และชี้ให้ศาลเห็นว่าไทยและกัมพูชาสามารถเจรจาเรื่องเขตแดนได้ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก (เอ็มโอยู) ปี 2543 พร้อมชี้ให้ศาลเห็นว่าพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 กับ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่พื้นที่เดียวกัน
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายไทยชี้ให้ศาลเห็นว่ามติคณะรัฐมนตรีขณะนั้น ขึงรั้วลวดหนาม กัมพูชาไม่เคยทักท้วง และไทยได้ถอนทหารจากบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียงแล้ว
แสดงว่าทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันมาโดยตลอด ทั้งนี้ฝ่ายไทยชี้ว่าถึงความไม่ชอบมาพากลของเอกสารพยานหลักฐานที่กัมพูชาใช้ในการต่อสู้คดีครั้งนี้ โดยแผนที่ที่กัมพูชาอ้างมีหลายชุด ซึ่งชุดปี 2505 กับครั้งนี้แตกต่างกัน แผนที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกัมพูชาใช้แผนที่ปี 2505 มาดัดแปลง ใช้ในครั้งนี้
ส่วนกรณีทนายกัมพูชาอ้างเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่าไทยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการชั่วคราวของศาลโลกนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า
เราชี้แจงว่าปฏิบัติแล้ว และไทย-กัมพูชาหารือกันตลอดตามคำสั่งชั่วคราวศาล ทีมทนายได้ชี้ให้ศาลเห็นว่าไทยกัมพูชาดำเนินไปด้วยดี มีกลไก และช่องทางแก้ไขปัญหาระหว่างกันได้ โดยเฉพาะเรื่องเขตแดนภายใต้เอ็มโอยู ปี 2543“วันนี้เราทำได้ดีมาก สิ่งที่กัมพูชาเสนอมาเมื่อวันที่ 15 เม.ย.นี้ ไม่แน่นเหมือนฝ่ายไทยวันนี้ เรามั่นใจในฝ่ายเรา แต่ต้องดูคำตัดสินของศาลว่าเป็นอย่างไร”นายสุรพงษ์ กล่าว