“มาร์ค” ลั่นกลางสภาฯ ไม่รับหลักการ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง “มาร์ค” ลั่นกลางสภาฯ ไม่รับหลักการ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ
วันที่ 28 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ ด้านการคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีมติชัดเจนไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ ดังกล่าว
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายที่จะมาบอกว่า จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้หรือไม่ ขอยืนยันว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ หากถามว่า ทำไมเราไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เพราะถ้าดูจากสิ่งที่รัฐบาลชี้แจงถึงความจำเป็นในการกู้เงิน ก็อาจสรุปได้ว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะไม่สามารถเดินหน้าในการลงทุนพื้นฐานได้ ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1.เงินงบประมาณไม่พอ ขอย้ำว่า รัฐบาลไม่ต้องกู้เลย โดยใช้ระบบงบประมาณ ท่านมีเงินเพียงพอที่จะทำโครงการเหล่านี้ชัดเจน เพราะรมว.คลัง เคยพูดในแผนการบริหารงบจากปีนี้ไปถึงปี 2563 เป็นอย่างไร คือ ในปี 57 จะจัดงบขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท จากนั้นจะทยอยลดการขาดดุลลงไป จนเป็นงบสมดุลในปี 2560 หากนำแผนการบริหารงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้ บวกกับงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท ที่แจกแจงเป็นรายปี จะพบความจริงว่า เงินที่จะใช้จ่ายจะสามารถจัดเป็นงบขาดดุล โดยไม่กระทบกับเพดาน เงินกู้ ตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และพ.ร.บ.หนี้สาธารณะ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2.กฎระเบียบ หรือกฎหมายไม่เอื้ออำนวยที่จะให้ลงทุน อยากถามว่า โครงการที่จะทำ จะต้องกู้อย่างเดียวหรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ใช่ หากเราใช้กฎหมายหรือให้เอกชน มาร่วมลงทุนอย่างจริงจัง ตัวเลขการลงทุน 2 ล้านล้านบาท คงไม่สูงขนาดนี้
และ3.ปัญหาเรื่องการเมือง นั้น การเมืองจะเป็นปัญหาหรือไม่ อยู่ที่การบริหารประเทศในแต่ละช่วง เพราะความต่อเนื่อง การสะดุดลงของโครงการเป็นการตัดสินใจทางการเมือง เช่น หากถามว่า ปี 45-55 ทำไม่การลงทุนน้อย ตนก็บอกว่า รัฐบาลในช่วงนั้น ทำการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานน้อย เพราะไปให้ความสำคัญกับโครงการประชานิยมเยอะ โครงสร้างพื้นฐานที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ถนนหนทาง ระบบรางแทบไม่มีการลงทุนเลย เป็นต้น
“วันนี้ที่พวกเราทุกคนยืนขึ้นคัดค้านกฎหมายนี้ ไม่มีใคร ไม่ต้องการเห็นรถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้น แต่กำลังบอกว่า ท่านทำได้ เงินมี กฎหมายหลายฉบับก็เอื้อให้ทำได้ และทั้งหมดก็อยู่ที่การเมือง จึงต้องถามว่า หากเป็นความตั้งใจทางการเมืองที่จะทำเรื่องเหล่านี้จริง ทำไมต้องมาขอกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นอกงบประมาณปกติ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ ปัญหาวินัยการเงินการคลัง ว่า เจตนาของท่านที่แท้จริงคืออะไร เมื่อตอนที่ตนเป็นรัฐบาล สมาชิกอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านการกู้เงิน บ้างก็บอกสร้างหนี้ให้ประเทศ กู้มาโกง เก่งแต่กู้ แล้วรัฐบาลนี้ ได้หาเสียง ว่า จะไม่กู้เงิน ขึ้นป้ายทั่วประเทศว่า ล้างหนี้ให้ประเทศ นี่ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มากกว่าสถิติที่พ.ต.ท.ทักษิณ เคยทำไว้ 7 พันล้านบาท และในวันที่ 23 เม.ย. 2554 กล่าวในที่ประชุมพรรค ว่า สังหรณ์ใจว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ สร้างหนี้ แต่พรรคเพื่อไทยล้างหนี้ และบอกว่า ไม่ต้องกู้เงิน เป็นนักธุรกิจ เข็ดแล้ว อันนี้คนที่คิดและพรรคเพื่อไทยทำ เป็นคนพูด อยากถามว่า ทำไมวันนี้กู้
“การกู้เงินในระบบงบประมาณขาดดุล ถามว่า เป็นหนี้หรือไม่ ก็เป็น แต่เขามีกรอบ มีตัวกำกับที่ดูแล ที่จะไม่ทำให้ปัญหาหนี้บานปลาย ในอดีตจึงมีการกู้เงินในลักษณะนี้ด้วยเงื่อนไขเดียวคือ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้คาดว่า ปีนี้ หนี้สาธารณะจะเกิน 45 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ยังไม่ได้กู้ เพราะต้องยอมรับว่า อนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจโลก ที่บอกว่า ใช้หนี้ 50 ปี หนี้ที่คนไทยต้องใช้คือ 5 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 3 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกจะมีดอกเบี้ยต่ำไปอีก 50 ปี อยากถามว่า หากวันข้างหน้า ถ้าเกิดความผันผวนของเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แผนของรัฐบาลจะผิดหมด ไม่ใช่ 50 ปี ไม่ใช่ชาติหน้า แต่เป็นชาตินู้น ในขณะที่ความต้องการภายในประเทศ ก็ไม่แน่นอน”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่มีการใช้วิธีงบประมาณ นอกระบบคือ รัฐบาลไม่ต้องการผูกมัดตัวเอง วันนี้คนที่เป็นเจ้าของภาษีอากร มีสิทธิที่จะเรียกร้องกับพวกเรา ที่จะเข้มงวดกวดขันกับงบประมาณ เพราะมีเสียงครหาว่า แต่ละปีงบลดได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ โดยได้ผลงานเท่าเดิม ถึงเวลาแล้ว ที่จะนำไปสู่การลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ไม่กระทบวินัยการคลัง รัฐบาลกล้ายืนยันหรือไม่ว่า เมื่อมีพ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว รัฐบาลตั้งแต่ ปี 56-60 จะต้องปรับลดงบขาดดุลเท่าไหร่ และหลังปี 60 รัฐบาลจะต้องจัดงบสมดุล ตนเชื่อว่า ในที่สุดรัฐบาลก็จะไม่กล้าเขียน ไม่กล้าดำเนินการตามนี้ วันนี้ที่กำลังกู้มา เชื่อว่า ท่านกำลังทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่คุ้มค่าต่อไป ซึ่งการกู้เงินนอกงบประมาณ เป็นปัญหาต่อการตรวจสอบ เพราะเราไม่มีอำนาจในการพิจารณา และตรวจสอบได้เลยว่า ที่จะไปสร้างถนน รถไฟ กิโลเมตรละกี่บาท เพราะเราแปรญัตติไม่ได้ แต่สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เราจะได้รับทราบว่า แต่ละปีท่านทำอะไร แต่ไม่มีอำนาจบอกเลยว่า โครงการไหนต้องปรับเปลี่ยน หรือแก้ไข
“ผมไม่ได้ระแวง ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยึดถือจากประสบการณ์ของรัฐบาลชุดนี้ เพราะพวกเราเคยฟังการที่นายกฯ พูดว่า 1.2 แสนล้านบาท ที่จะฟื้นฟูน้ำท่วม ในที่สุดจะมีระบบตรวจสอบให้โปร่งใสได้ สุดท้ายก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ การที่นายกฯ บอกไม่ต้องห่วง เพราะมีระเบียบพัสดุ ฉะนั้นนายกฯ จะสั่งให้มีการเขียนไปในกฎหมายได้หรือไม่ว่า ทุกโครงการตามกฎหมายนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมายระเบียบพัสดุ จะไม่มีการไปออกมติครม. ยกเว้นระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างเหมือนงบ 1.2 แสนล้านบาท และ 3.5 แสนล้านบาท เพราะหากเป็นเช่นนี้จะน่าเชื่อถือมากขึ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้นำพรรคปชป. กล่าวอีกว่า โครงการที่พูดกันมากมาย จะเป็นไปตามที่รัฐบาลพูดหรือไม่ว่า จะเชื่อมไทยสู่โลก ถามว่า เราอยากจะเชื่อมโลกและเชื่อมต่ออาเซียน เราต้องไปเชื่อมที่ไหน คือ 1.เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงที่จีนสร้างลงมาถึงลาว และเวียงจันทร์ มาจ่อที่จ.หนองคาย 2.เชื่อมาเลเซีย สิงค์โปร์ เราต้องไปเชื่อมปาดังเบซาร์ 3.ต้องพยายามเชื่อมรถไฟเรากับทวาย ตนสนับสนุนทุกเส้นทาง แต่รัฐบาลต้องตอบว่า การเชื่อมไทยสู่โลก เหตุใดกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ต้องมาก่อน กรุงเทพฯ แหลมฉบัง หรือกรุงเทพฯ ทวาย และประเด็นเหล่านี้เราพิจารณาไม่ได้เลย เพราะเป็นกฎหมายให้อำนาจกู้เงิน และไปบริหารกันเอง 2 ล้านล้านบาท
“อยากถามว่า ถ้าสภาฯ อนุมัติกฎหมายแบบนี้ วันข้างหน้าจะเป็นแบบอย่างหรือไม่ ต่อไปรัฐบาล อาจจะเสนอกฎหมายงบประมาณมา มีรายการเงินเดือนอย่างเดียว จะลงทุนอะไร ก็ไปออกกฎหมายกู้เงิน ส.ส.ไม่สามารถตรวจสอบได้ จะไปเปลี่ยนไปย้ายอะไรก็ไม่มีวิธีงบประมาณในการควบคุม ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เขาจะไม่ทำอย่างนี้ เพราะการทำอย่างนี้ถือเป็นการเลี่ยงระบบการถ่วงดุลอำนาจและการตรวจสอบตามวิถีทางประชาธิปไตย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ตนขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่รับหลักการกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่รับ เพราะไม่ใช่ ไม่ต้องการเห็นโครงการเหล่านี้เกิดขึ้น ตรงกันข้าม และได้พิสูจน์แล้วไม่ว่าจะเป็นทางการเงิน ทางกฎหมาย การเมือง ว่า โครงการทั้งหมดสามรถทำได้อยู่ในกรอบของการบริหารงบประมาณหรือจะเป็นงบประมาณขาดดุลเป็นการสร้างหนี้ที่อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ และกฎหมายหนี้สาธารณะ อย่าทำเหมือนหลังน้ำท่วม เอาภาพสวยๆงาม มาฉายอนาคต บังหน้า เพื่อที่จะกู้มากอง กู้มาโกง เพิ่มหนี้ เพิ่มความเสี่ยงให้ประเทศ 50 ปี 5 ล้านล้านบาท คือ ผลที่เราจะได้จากการอนุมัติกฎหมายฉบับนี้แต่โครงการทั้งหลายไม่มีหลักประกัน พวกเราขอไม่รับหลักการ