วันนี้ ( 6 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงภายหลังการประชุม กกต.ว่าที่ประชุมกกต. 4 คนมีมติ 3 ต่อ 1 เห็นควรยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่ได้รับคะแนนการเลือกตั้งสูงสุดให้เป็นผู้ว่าฯกทม. ตามที่กกต.กทม.เสนอ
โดยอาศัยมาตรา 95 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ประกอบ ประกาศคณะปฏิรูปการ ปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 32 ที่ให้อำนาจหน้าที่ กกต.สามารถสืบสวนสอบสวนกรณีผู้ได้รับเลือกตั้งมีเรื่องร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จให้กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อน โดยกำหนดระยะเวลา 30 วัน จะครบในวันที่ 2 เม.ย. นี้
นายภุชงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านม.ร.ว.สุขุมพันธ์ นั้นขณะนี้มีอยู่ 3 เรื่อง แยกเรื่องที่ร้องเรียนมายังกกต.กทม.และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกกต.กทม. 2 เรื่อง และฝ่ายสืบสวนสอบสวนของกกต.กลาง 1 เรื่อง โดยทั้งหมดเป็นคำร้องที่กล่าวหาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์กระทำผิดตามมาตรา 57 ( 5 ) ของพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ ฐานปราศรัยใส่ร้าย หลอกลวง จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ซึ่งเบื้องต้นทางกกต.กทม. ขอเวลาในการสืบสวน 15 วันก่อนที่จะเสนอมายังกกต.กลางพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหากการสอบสวนแล้วเสร็จก่อนระยะเวลา 30 วัน กกต.ก็อาจพิจารณาเรื่องประกาศรับรองผลก่อนระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการประชุมกกต.วันนี้ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านสืบสวนสอบสวน ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งเมื่อเข้าสู่วาระการพิจารณาเรื่องดังกล่าวที่ประชุมไม่ได้มีการหารือว่า จะต้องรอนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กลับมาจากการดูงานที่ต่างประเทศก่อน โดยด้านบริหารงานเลือกตั้งได้รายงานผลคะแนนเลือกตั้ง และแจ้งว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ มีเรื่องถูกร้องเรียนรวม 3 เรื่อง รวมถึงกกต.กทม.เสนอความเห็นว่ายังไม่ควรประกาศรับรองผล จากนั้นที่ประชุมได้มีการพิจารณาก่อนที่กรรมการแต่ละคนจะนำใบลงคะแนนไปลงคะแนนที่ห้องทำงานของตนเอง และส่งให้ฝ่ายการประชุมนำไปรวมคะแนน ซึ่งทั้งหมดใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะมีการแถลงข่าว
โดยเสียงข้างน้อย 1เสียงที่เห็นว่าควรประกาศรับรองผลคือนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้งที่มองว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มาตรา 48 กำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่เสียงส่วนใหญ่ เห็นว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น และประกาศ คปค. ที่กำหนดให้กกต.สืบสวนสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ.องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น ๆ ประกอบกับกกต.กทม.ก็ยืนยันว่าจะใช้เวลาในการสอบสวนตามคำร้องให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวปลัดกรุงเทพมหานครก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการผู้ว่าฯกทม.ได้