'พธม.'ยื่นเงื่อนไขขอ 8 กลุ่มหารือออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถอนร่างกฎหมายปรองดอง ด้าน 'เจริญ' ไม่ขัดข้องเล็งออกจดหมายเชิญ แถมพ่วงทหารเข้ามาด้วย
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้าพบนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ฐานะประสานเพื่อการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนำไปสู่ความปรองดอง พร้อมยื่นหนังสือซึ่งเป็นเงื่อนไขให้ปฏิบัติก่อนเข้าร่วมหารือถึงแนวทางการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ตามที่ได้นัดหมายวันที่ 11 มี.ค. นี้
โดยนายปานเทพได้เข้าพบกับนายเจริญ ประมาณ 10 นาทีก่อนแถลงว่า ตามเงื่อนไขที่ได้เสนอให้นายเจริญ พิจารณา คือ การเพิ่มบุคคลที่จะเข้าร่วมหารือจากเดิมที่กำหนด 4 กลุ่มไปเป็น 8 กลุ่ม ได้แก่
1.รัฐบาลพรรคเพื่อไทย
2.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะอดีตรัฐบาลและพรรคแกนนำฝ่ายค้าน
3.ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรฯ
4.ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
5. ตัวแทนกลุ่มองค์การพิทักษ์สยาม
6. นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย
7. ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุม อาทิ ผู้ประกอบการ, ผู้ประกอบธุรกิจย่านแยกราชประสงค์, สยามสแควร์ เป็นต้น
8.ตัวแทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
“กลุ่มพันธมิตรฯ ย้ำจุดยืนว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้ที่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร แต่ขอคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้บุคคลที่ทำผิดกฎหมายอาญาหรือคดีทุจริต ซึ่งหากเงื่อนไขที่เสนอไปไม่สามารถปฏิบัติได้ ทางพันธมิตรฯ จะไม่ขอเข้าร่วมการหารือในวันที่ 11 มี.ค.นี้” นายปานเทพ กล่าว
นายปานเทพ กล่าวต่อว่า หากนายเจริญ สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขและนำไปสู่การออกกฎหมายต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ได้การยอมอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนกลุ่มที่ได้ร่วมหารือ ซึ่งหากในชั้นของการแปรญัตติมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลุ่มพันธมิตรพร้อมจะจัดชุมนุมคัดค้านอย่างถึงที่สุด นอกจากนั้นขอให้มีการถอนร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ออกจากระเบียบวาระประชุมด้วย อย่างไรก็ตามข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์แสดงจุดยืนจะไม่เข้าร่วมการหารือวันที่ 11 มี.ค.นี้ถือเป็นดุลยพินิจ
ส่วนตัวมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มองภาพการเมืองมากกว่าสิ่งอื่นด้านนายเจริญ ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ตนไม่ขัดข้องกับเงื่อนไขที่นายปานเทพเสนอ โดยในวันนี้ตนเตรียมทำหนังสือเชิญไปยัง 8 กลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้จะรวมถึงทหารในฐานะผู้ปฏิบัติงานช่วงที่มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน และกฎหมายมั่นคง โดยทางฝ่ายทหารจะส่งหนังสือผ่าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อย่างไรก็ตาม ตนตอบไม่ได้ว่าการหารือวันที่ 11 มี.ค.นี้ จะได้ข้อยุติหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายที่ร่วมหารือ
แต่หากได้ข้อยุติแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การออกกฎหมายและเสนอให้สภาฯ พิจารณา โดยประเด็นที่จะนำมาหารือกันในวันที่ 11 มี.ค. คือ การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้เฉพาะประชาชนที่ทำผิดกฎหมายมั่นคง และ พรก.ฉุกเฉินเท่านั้น “ผมมีความจริงใจในการทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ขอให้ฝ่ายค้านได้สบายใจ ส่วนการถอนร่าง พรบ.ปรองดองออกจากระเบียบวาระ ผมไม่สามารถบังคับได้ เนื่องจากขึ้นอยู่ดุลยพินิจของเจ้าของร่างกฎหมาย และสส. อนึ่งหากร่างกฎหมายดังกล่าวที่อยู่ในระเบียบวาระไม่ถูกหยิบยกมาพิจารณา ร่างก็ยังคาอยู่ไปจนกว่าการประชุมสภาฯ จะปิดสมัย” นายเจริญ กล่าว
ด้านแหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ตามกำหนดเวลาพรรคเพื่อไทยระบุให้มีการหารือถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมภายในวันที่ 12 มี.ค.นี้ โดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธาน สส.ได้ระบุต่อที่ประชุมพรรคว่า ต้องนำข้อสรุปที่ นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ได้หารือกับฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่นายเจริญได้ดำเนินการเข้าร่วมหารือด้วย เบื้องต้นประเด็นดังกล่าวทำให้นายเจริญมีความอึดอัดใจ และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเร่งพิจารณาตัวแทน 9 กลุ่มให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 มี.ค.นี้