แม้ว่าผลการทำเอ็กซิทโพลล์ของหลายสำนักจะออกมาในทางเดียวกันว่า พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 9 จากพรรคเพื่อไทย จะมีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 จากพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ยังมี 2 สำนักคือ นิด้าโพล และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ ที่อ้างว่า ผลสำรวจที่ได้มานั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีคะแนนนำอยู่เล็กน้อย
ทว่าภายหลังปิดหีบบัตรเลือกตั้ง และเริ่มทำการนับคะแนน ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ กลับปรากฏว่า คะแนนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ขึ้นนำในหลายเขต โดย พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำประมาณ 10 เขตเลือกตั้ง เช่น หลักสี่ ดอนเมือง คลองสามวา
ก่อนการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะ ผอ.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ส่งสัญญาณมาแล้วว่า อยากให้ชาว กทม.จะเลือกใครก็เลือกให้เสียงชนะขาดไปเลย
ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ผอ.เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยังไม่กล้าจะฟันธง แม้การหย่อนบัตรเลือกตั้งได้เริ่มขึ้นแล้วกว่า 3 ชั่วโมง "มันสูสีกันมาก แต่เราก็ยอมรับว่า ในเขตที่เราเคยได้เสียงจำนวนมาก เราอาจจะได้ลดลง" นายองอาจ กล่าว
ทั้งนี้เสียงที่หายไปนั้น นายองอาจ ยอมรับว่า น่าจะเกิดจากตัวผู้สมัครอิสระ ที่เข้ามาเบียดชิงคะแนนไป และหนนี้ผู้สมัครอิสระที่ "แรง" นั้น มีด้วยกันถึง 3 คน คือ นายโฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข 10 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หมายเลข 11 และนายสุหฤท สยามวาลา หมายเลข 17
ขณะที่ นายอลงกรณ์ พลบุตร แกนนำจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเช่นกันว่า ตั้งแต่แรกแล้วที่ทั้งสองพรรคไม่กล้าฟันธงว่าใครนำ เพียงแต่ทางพรรคประชาธิปัตย์ยังคงมั่นใจว่า เขตเลือกตั้งที่มี ส.ส. ส.ก. และ ส.ข.ของพรรคอยู่ โอกาสที่จะได้คะแนนตามหลังคู่แข่งมีน้อยมาก แล้วในที่สุดผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการก็ออกมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้มาเป็นอันดับ 1 โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ ตามมาเป็นอันดับ 2 และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ อันดับ 3
ทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ ต่างก็ได้คะแนนเสียงเกินล้านคะแนนทั้งคู่ เพียงแต่ชาว กทม.ยินดีให้พรรคประชาธิปัตย์บริหารกรุงเทพมหานครต่อไปอีก 4 ปี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วพรรคประชาธิปัตย์จะบริหารกรุงเทพมหานครยาวไปถึง 13 ปี
น่าสนใจว่า อะไรที่ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มาถึงจุดนี้ได้ ทั้งที่ผลการสำรวจความนิยมมีคะแนนตามหลังคู่แข่งมาตลอด อย่างแรกก็ต้องดูที่ "สปิริต" ความเป็นทีมของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องเรียกได้ว่า ถึงแม้จะต้องกลืนเลือดอันเนื่องจากความขัดแย้งภายใน แต่ความเป็นพรรคที่เก่าแก่มานาน ทำให้ร่วมแรงร่วมใจกันช่วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หาเสียง
ด้วยความได้เปรียบในเรื่องของฐานเสียง ที่สามารถจัดตั้งผ่าน ส.ก.-ส.ข.ของพรรคที่มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในสภา กทม. ขณะเดียวกัน โพลล์ที่ออกมาแทบจะรายวันนั้น ส่งผลทางจิตวิทยาให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ทั้งที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือตัดสินใจแล้วแต่ก็ยังลังเลว่าจะออกมาใช้สิทธิ์หรือไม่ ก็ตัดสินใจออกมาเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์
ประกอบกับนโยบายของผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเอง ที่แอบอิงไปกับรัฐบาลนั้น ส่งผลต่อจิตวิทยาเช่นกัน คือ เกิดความกลัวว่า หากเข้ามาทำจริงแล้วจะหางบประมาณจากไหนเพื่อไปเนรมิตให้ฝันกลายเป็นจริง
ถึงแม้ว่าเสียงส่วนหนึ่งจะเทไปทางผู้สมัครอิสระ แต่เมื่อเทียบสถิติออกมาแล้ว กลับเป็นว่า ครั้งนี้ผู้สมัครอิสระได้รับเลือกในจำนวนที่น้อยกว่าการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ทำให้คะแนนอันดับ 1 และ 2 พุ่งทะลุ 1 ล้านคะแนน
ขณะเดียวกัน ในโค้งสุดท้ายนั้น กระแสเผาบ้านเผาเมือง ที่ถูกโหมแรงมากขึ้น บวกกับนโยบายการป้องกันน้ำท่วมที่คนเมืองหลวงยังคงหวาดผวานั้น พรรคประชาธิปัตย์เลือกทิ้งทุ่นระเบิดเอาในช่วงนี้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยนั้นกลับไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ส่งผลต่อรอยช้ำจากทุกข์น้ำท่วมหลายเขตในตอนเหนือของ กทม.ที่ยังไม่เลือนหาย เฉกเช่นเดียวกับคนใน จ.นครสวรรค์ ไล่ลงมาจนถึงปทุมธานี
จึงไม่แปลกที่จะเห็นคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์บดเบียดพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นเขตดอนเมือง สายไหม คลองสามวา ลาดกระบัง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554
นอกจากนี้ยุทธศาสตร์ "ปั๊มคะแนน" ดูเหมือนจะได้ผล หลังจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ พรรค สั่ง ส.ส.กทม.ทุกคน ให้ลงพื้นที่หาคะแนนเพิ่ม โดยยึดหลักจากฐานเสียงเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2554 แล้วเดินเคาะประตูบ้านขอคะแนนช่วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากกลุ่มที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ์ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งโค้งสุดท้าย หัวหน้าพรรคออกจดหมายเปิดผนึกอ้อนขอคะแนนช่วย และเผยแพร่คลิปของหัวหน้าพรรคผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชาว กทม.ฝ่าสายฝนออกมาเลือกตั้ง
สำหรับมุมมองจากภายในพรรคประชาธิปัตย์ประเมินว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้รักษาแชมป์ไว้ได้
1.เพราะกระแสพรรคใน กทม.ซึ่งเป็นเมืองหลวง ก็ไม่ต่างกับทั่วโลก ที่ฝ่ายค้านจะดีกว่ารัฐบาล
2.มองนโยบาย ที่พรรคเพื่อไทยคู่แข่งหาเสียง เลยกรอบ เลยขอบเขตไปมาก จนทำให้รู้สึกว่า นโยบายประชานิยมลดแลกแจกแถม จะทำได้จริงหรือ? จะเอางบที่ไหน ประกอบกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ภาษีรถคันแรก กำลังกลายเป็นปัญหาหนักและเป็นภาระที่ไม่ได้กระทบแค่เพียงรัฐบาลนี้เท่านั้น ปัญหาอาจจะยาวไปถึงรัฐบาลอื่นๆ อีกหลายสมัย "ไร้รอยต่อ" แทนที่จะเป็นบวก ก็เลยกลายเป็นภาพลบที่ต่อเนื่องมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล
ปัจจัยจากโพลล์ที่กดดันแฟนคลับประชาธิปัตย์ ก็เริ่มมีกระแส "กลัวแพ้-กลัวไร้รอยต่อ"
ส่วนเรื่องของการใช้ "อำนาจรัฐ" การออกมาร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าวของกลุ่มตำรวจ จ.ลพบุรี ที่อ้างว่า ถูกย้ายทะเบียนมาอยู่กรุงเทพมหานครแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวนั้น น่าจะมีผลพอสมควร แม้ความจริงยากที่จะพิสูจน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเท่ากับตอกย้ำภาพของความเป็นสีเดียวกัน พวกเดียวกัน ทำให้เกิดผลทางจิตวิทยาในการที่จะออกมาเลือกเพื่อ "ลงโทษ" และทำให้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยเป็นผู้ว่าฯ เฉพาะแต่ผลจากโพลล์เท่านั้น
ไม่นับถึงเรื่องการบุกเข้าค้นบ้าน อ้างว่าตรวจหายาเสพติดตามชุมชนต่างๆ แต่กลับไปถามว่า เป็นหัวคะแนนให้พรรคไหน กรณีนี้ส่งผลต่อการตัดสินใจ "เลือก" โดยตรง ถึงแม้ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ก็ตาม
ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับเข้ามาบริหาร กทม.อีกสมัย แต่ผลจากคะแนนเสียงของคู่แข่ง ที่หายใจรดต้นคอมาตลอด ก็น่าเชื่อว่า จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญภายในพรรคประชาธิปัตย์
"ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร คนของเราจะแพ้หรือชนะ พรรคจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง" แกนนำรายหนึ่งในพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ซึ่งก็ควรจะเป็นเช่นนั้น เพราะถึงคะแนนที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะได้รับเลือกตั้งเกิน 1.2 ล้านเสียง แต่ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็พุ่งผ่านหลักล้านได้ไม่ยากเย็นนัก จากครั้งก่อนผู้สมัครในสังกัดได้เพียง 6 แสนเศษๆ
นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่า หากพรรคประชาธิปัตย์อยากจะยึดครองใจคนเมืองหลวงต่อไป "เรื่องพื้นๆ" อย่างที่เคยทำมาก่อน วันข้างหน้าคงยากจะรักษาชัยชนะให้อยู่ในมือได้อีกต่อไป
หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เพียงแค่ "การเปลี่ยนแปลง" ไม่น่าจะพอสำหรับพรรคประชาธิปัตย์
คะแนนผู้ว่าฯ กทม.
พระนคร
สุขุมพันธุ์ 15,074 พงศพัศ 8,854
สัมพันธวงศ์
สุขุมพันธุ์ 9,346 พงศพัศ 2,752
ป้อมปราบศัตรูพ่าย
สุขุมพันธุ์ 14,837 พงศพัศ 5,890
บางรัก
สุขุมพันธุ์ 13,632 พงศพัศ 4,824
ปทุมวัน
สุขุมพันธุ์ 13,242 พงศพัศ 7,265
สาทร
สุขุมพันธุ์ 24,600 พงศพัศ 10,488
ยานนาวา
สุขุมพันธุ์ 21,359 พงศพัศ 11,148
บางคอแหลม
สุขุมพันธุ์ 25,107 พงศพัศ 12,977
คลองเตย
สุขุมพันธุ์ 22,060 พงศพัศ 16,516
บางกะปิ
สุขุมพันธุ์ 35,581 พงศพัศ 26,330
ลาดพร้าว
สุขุมพันธุ์ 29,690 พงศพัศ 24,717
วังทองหลาง
สุขุมพันธุ์ 26,437 พงศพัศ 20,645
พระโขนง
สุขุมพันธุ์ 23,346 พงศพัศ 16,173
สวนหลวง
สุขุมพันธุ์ 29,803 พงศพัศ 17,758
วัฒนา
สุขุมพันธุ์ 19,877 พงศพัศ 8,179
ประเวศ
สุขุมพันธุ์ 34,919 พงศพัศ 28,514
บางนา
สุขุมพันธุ์ 21,764 พงศพัศ 16,651
สะพานสูง
สุขุมพันธุ์ 23,928 พงศพัศ 15,599
คลองสาน
สุขุมพันธุ์ 21,089 พงศพัศ 11,088
ธนบุรี
สุขุมพันธุ์ 28,279 พงศพัศ 20,235
ดุสิต
สุขุมพันธุ์ 17,386 พงศพัศ 21,818
ราชเทวี
สุขุมพันธุ์ 14,841 พงศพัศ 11,216
บางซื่อ
สุขุมพันธุ์ 26,781 พงศพัศ 27,070
ดอนเมือง
สุขุมพันธุ์ 28,092 พงศพัศ 40,073
บางเขน
สุขุมพันธุ์ 37,591 พงศพัศ 43,024
หลักสี่
สุขุมพันธุ์ 23,794 พงศพัศ 24,390
สายไหม
สุขุมพันธุ์ 30,424 พงศพัศ 45,797
คลองสามวา
สุขุมพันธุ์ 35,051 พงศพัศ 35,758
คันนายาว
สุขุมพันธุ์ 18,042 พงศพัศ 19,137
บึงกุ่ม
สุขุมพันธุ์ 33,679 พงศพัศ 29,737
มีนบุรี
สุขุมพันธุ์ 28,744 พงศพัศ 27,327
หนองจอก
สุขุมพันธุ์ 29,912 พงศพัศ 32,168
ลาดกระบัง
สุขุมพันธุ์ 25,179 พงศพัศ 38,370
บางขุนเทียน
สุขุมพันธุ์ 33,989 พงศพัศ 32,378
บางบอน
สุขุมพันธุ์ 22,934 พงศพัศ 19,731
หนองแขม
สุขุมพันธุ์ 29,232 พงศพัศ 33,129
ห้วยขวาง
สุขุมพันธุ์ 18,616 พงศพัศ 14,906
ดินแดง
สุขุมพันธุ์ 29,484 พงศพัศ 25,297
พญาไท
สุขุมพันธุ์ 17,254 พงศพัศ 13,559
จตุจักร
สุขุมพันธุ์ 38,648 พงศพัศ 31,227
บางพลัด
สุขุมพันธุ์ 22,877 พงศพัศ 20,244
ตลิ่งชัน
สุขุมพันธุ์ 23,504 พงศพัศ 22,704
ทวีวัฒนา
สุขุมพันธุ์ 20,559 พงศพัศ 15,009
บางแค
สุขุมพันธุ์ 44,419 พงศพัศ 37,430
ภาษีเจริญ
สุขุมพันธุ์ 28,009 พงศพัศ 27,327
บางกอกน้อย
สุขุมพันธุ์ 26,695 พงศพัศ 20,510
บางกอกใหญ่
สุขุมพันธุ์ 17,393 พงศพัศ 13,046
ราษฎร์บูรณะ
สุขุมพันธุ์ 17,625 พงศพัศ 17,305
จอมทอง
สุขุมพันธุ์ 33,968 พงศพัศ 29,458
ทุ่งครุ
สุขุมพันธุ์ 27,081 พงศพัศ 21,416