'ธาริต'ลั่นพร้อมส่ง'ปปช.'ฟัน'อภิสิทธิ์-สุเทพ'ตามม.157 อ้างเหตุพบหลักฐานที่ชี้ความผิดชัด แย้มผลสอบพบฝ่ายการเมืองล้วงลูกสั่งให้รวบสัญญา
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจ(ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง ว่า ในขณะนี้ดีเอสไอได้พบข้อมูลใหม่ในคดีดังกล่าว ที่จะตั้งข้อกล่าวเพิ่มเติมกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามมาตรา 157 โดยการตรวจสอบทางดีเอสไอพบว่า ในช่วงปลายยุครัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงเดือนกุมพันธ์ พ.ศ. 2552 นั้น ได้มีการเสนอโครงการสร้างโรงพักทดแทน 369 หลังเข้าสู่การพิจารณาของครม.ในตอนนั้น
ซึ่งในครม.ก็ได้ให้ความเห็นชอบอนุมัติงบประมาณ และสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการจัดจ้าง แต่สาระสำคัญที่เป็นข้อเสนอของสำนักงบประมาณให้ดำเนินการจัดจ้างการก่อสร้างกระจายเป็นรายภาค ดังนั้น ตรงนี้การที่ใครจะไปเปลี่ยนมติ ครม.อะไร จะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าสู้ที่ประชุม ครม.อีกครั้ง และต่อมาเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นชุดของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งในช่วงแรกเรื่องดังกล่าวก็ยังยึดถือตามติ ครม.เดิมที่แยกรายภาค และเมื่อผ่านมาเป็นเวลา 6 เดือน ได้มีการสั่งยกเลิกการก่อสร้างรายภาค แล้วมีการอนุมัติใหม่ให้ดำเนินการแบบรวบสัญญา
นายธาริต กล่าวต่อว่า หลักฐานที่เราพบใหม่นั้น คือ เรื่องดังกล่าวนี้ได้มี มติครม.ค้างอยู่ว่าให้แยกสัญญาก่อสร้างแบบรายภาค แต่อยู่ดีๆ ฝ่ายการเมืองไม่ยอมนำเรื่องเข้า ครม.อีกครั้ง แต่กลับสั่งให้มีการรวบสัญญา ซึ่งเมื่อเช่นนี้ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมประมูลแข่งกับบริษัท พีซีซี แล้วแพ้การแข่งขันการประมูล ซึ่งบริษัทที่แพ้การประมูลได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการว่าด้วยวิธีการวัสดุทางอีเล็คทรอนิค ซึ่งเป็นบอร์ดระดับชาติ ให้ทำการวินิจฉัย ซึ่งผลการวิจัยก็ออกมาสอดคล้องกับมติ ครม.ว่า การดำเนินการโดยการยกเลิกรายภาคและนำมารวบศูนย์เป็นสัญญาฉบับเดียวถือว่าเป็นการขัดมติ ครม. ดังนั้นปัญหาเรื่องนี้ไม่ใช่มีเพียงแค่ผิดตาม พรบ.ฮั้ว เท่านั้น แต่ยังมีความผิดที่ฝ่าฝืนมติ ครม. ซึ่งจะมีความผิดตามมาตรา 157 อีกด้วย จากสิ่งที่เราพบทั้งหมดนี้ ทำให้ดีเอสไอเห็นว่าน่าจะเป็นข้อมูลหลักฐานที่พอเพียงที่จะสามารถสรุปเรื่องส่งไปยังปปช.พิจารณาความคิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้
"ในช่วงที่มีการร้องเรียนนั้น บริษัทที่เข้าร่วมประชุมจำนวน 8 บริษัท ได้เข้าชื่อร่วมกันคัดค้าน รวมทั้งบริษัท พีซีซีด้วย โดยส่งเรื่องเสนอไปยังนายอภิสิทธิ์ ว่า อย่าได้ยกเลิกเปลี่ยนแปลงสัญญามาเป็นแบบรวมสัญญาเป็นอย่างเด็ดขาด เพราะจะไม่มีบริษัทใดที่จะสามารถดำเนินการได้ ซึ่งผลของการคัดค้านดังกล่าวก็ไม่เป็นผล เพราะในที่สุดแล้วก็มีการแก้ไขสัญญามาเป็นแบบรวมสัญญาอย่างที่เราเห็นกัน การส่งเรื่องไปยัง ปปช.นั้น ดีเอสไอจะสรุปส่งเรื่องทั้งความผิดเรื่องการฮั้ว และความผิดตามมาตรา 157 เนื่องจากบุคคลทั้งสองถือว่าเป็นข้าราชการระดับสูงของฝ่ายการเมือง ซึ่งถือว่าอยู่ในอำนาจของปปช." นายธาริต กล่าว
เมื่อถามว่า นอกจากนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ แล้ว ยังมีข้ารชาการประจำที่จะอยู่ในข่ายที่จะต้องถูกดำเนินการส่งเรื่องไปยัง ปปช.หรือไม่ นายธาริต กล่าวว่า ในเบื้่องต้นเราเห็นว่า พล.ต.อ.ปทีป น่าจะอยู่ในข่ายด้วย เพราะจากการตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีความไม่ปกติเกิดขึ้นคือ ฝ่ายข้าราชการประจำจะไม่มีสิทธิ์ที่จะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเรื่องเอง แต่จะมีหน้าที่ปฎิบัติตามมติ ครม.เดิมที่อยู่ในยุคตรัฐบาลของนายสมชาย แต่เรื่องดังกล่าวนี้คงจะต้องใช้ว่ามีการล้วงลูกจากฝ่ายการเมืองให้ฝ่ายประจำเสนอไปยกเลิก และแก้ไขสัญญา ซึ่งไม่มีระเบียบใดที่ระบุให้ทำ และถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดมติ ครม.
การกระทำอย่างนี้เรามองว่าเป็นการล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง และเรามองว่า พล.ต.อ.ปทีป ไม่น่าจะอยู่ในข่ายของผู้กระทำความผิดโดยตรง และอาจจะเสนอให้กัน พล.ต.อ.ปทีปออก หรือเสนอว่า ไม่ให้ พล.ต.อ.ปทีป ไม่ได้อยู่ในข่ายที่มีความผิด เรื่องนี้ยังไม่มีข้อยุติโดยในสัปดาห์หน้าเราจะทำการพิจารณาต่ออีกครั้ง ตอนนี้มุมเรื่องนี้เรามีความชัดเจนตรงฝ่ายการเมือง เพราะเราคิดว่าหากฝ่ายการเมืองไม่สั่งการปัญหาเรื่องนี้ทั้งหมดคงจะไม่มีเกิดขึ้น เนื่องจากเราต้องดูที่จากพฤติการณ์ทั้งหมดฝ่ายการเมืองไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ แต่ฝ่ายการเมืองกลับสั่งการให้ฝ่ายข้าราชการประจำให้ดำเนินการเสนอเรื่องมายังฝ่ายการเมือง ซึ่งผมคิดว่าถ้าฝ่ายเมืองมีความสุจริต ฝ่ายการเมืองจะต้องไม่อนุมัติในเรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่อำนาจของตนเอง อีกทั้งพฤติการณ์เช่นนี้มันบ่งชี้ที่ว่ากรรมเป็นเครื่องบ่งชี้เจตนา นายธาริต กล่าว