นายกฯ ปู เรียก "รมต.-เหล่าทัพ" ตัดสินใจเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนหันมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง "เลขาธิการ สมช." เผย 19 มี.ค. ชง ครม. ไฟเขียว แจงรอประเมินสถานการณ์-กำลัง ตร.-อส. พร้อมรับมือแทนทหารได้หรือไม่
ภายหลังประชุม ครม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. พล.ท.ภราดร พัฒนาถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หารือในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวัน ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการ ครม. โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
พล.ท.ภราดร เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกฯ ได้เชิญรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในงานแก้ไขปัญหาภาคใต้ ทั้งงานด้านการพัฒนา และความยุติธรรม เข้ามาพูดคุยเพื่อรับแนวทางของฝ่ายความมั่นคง และประสานงานกัน เพื่อจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยถึงปัญหา และความเข้มข้นในพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนมีแนวโน้มที่จะสามารถปรับกำลังได้ ถ้าพื้นที่ไหนสถานการณ์เริ่มเบาบางลงก็จะรวบรวมเป็นข้อมูลไว้ในการพิจารณาปรับลดจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยในวันที่ 19 มี.ค. นี้ ที่จะครบกำหนดการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้ทบทวนกันว่าพื้นที่ใดบ้างที่พอจะลดโทนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดย สมช.จะได้นำไปประชุมหารือกันต่อไป และคาดหวังกันว่าในการประชุมครั้งหน้าจะสามารถยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคงได้
“พื้นที่ที่อยู่ในเกณฑ์ที่จะลดโทนมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีมากกว่า 5 อำเภอใน จ.สงขลา แต่ต้องรอการตกผลึกอีกที เพราะสถานการณ์มีการพัฒนาไปตลอด และสิ่งสำคัญที่สุดที่รัฐบาลตระหนักคือเมื่อมีการประกาศลดโทนจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาเป็น พ.ร.บ.ความมั่นคง แล้ว เราไม่ประสงค์ที่จะย้อนรอยกลับไปประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใหม่ ดังนั้นต้องให้ความแน่ใจเรื่องสถานการณ์และกำลังในพื้นที่ที่จะดูแลได้ด้วย อีกทั้งต้องรอดูกำลังตำรวจด้วย เพราะเมื่อประการลดโทนแล้ว ต้องถอนกำลังทหารออกมา แล้วใช้กำลังตำรวจกับ อส.ของกระทรวงมหาดไทยเข้าไปเสริมให้สอดรับกัน ขณะนี้ตำรวจรับอัตรามาแล้ว 1,700 นาย และ อส.อีก 900 กว่าคน หากทหารถอนกำลัง โดยที่ตำรวจกับมหาดไทยยังไม่พร้อมก็จะรับลูกกันไม่ได้ ” พล.ท.ภราดร กล่าวและว่า ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ขณะนี้นั้น ส่วนใหญ่ถือว่าลดลงแล้ว แม้ว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้กระจายตัวออกจากพื้นที่ควบคุม อย่างไรก็ตามต้องรอประชุมอีกครั้งถึงจะประกาศอย่างชัดเจนได้ว่ามีเขตอำเภอไหนบ้างที่ควรประกาศลดการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงได้โดยเร็ว
พล.ท.ภราดร กล่าวอีกว่า ส่วนการทำหนังสือชี้แจงไปยังประเทศกลุ่มมุสลิมนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศรับที่จะไปดำเนินการตามกระบวนการแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้พาโอไอซีลงไปดูพื้นที่มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์การตั้งนายนัจมุดดีน อูมา เข้ามาเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยดูงานแก้ปัญหาภาคใต้ พล.ท.ภราดร ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยกล่าวเพียงว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่อาจต้องฟังความเห็นจากที่ปรึกษาในหลายมิติ