อธิบดีกรมการศาสนา เผยได้รับแค่เพียงฉายาหลังการบวช เหมือนกับทุกคนที่บวชใหม่ จะได้"พระครู"ต้องบวช 5 ปีขึ้นไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ก.พ. นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีปัญหาวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีปัญหาถูกลอบทำร้ายว่า ทางกรมการศาสนาได้ลงไปดูเรื่องที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงว่าเทศกาลเข้าพรรษาจะไม่มีเจ้าภาพในเรื่องของกฐิน ผ้าป่าก็ไปทำตรงนี้ถวายปีที่แล้วมี 167 วัดด้วยกัน ที่ไม่มีเจ้าภาพ ทางกรมการศาสนาได้หาเจ้าภาพกฐินให้แล้วจนครบ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม "ศาสนิกสัมพันธ์" คือเอาทุกศาสนามาพูดคุยกัน เอาเด็กมาเข้าค่าย ในช่วงเดือนมีนาคม เพื่อให้ทุกศาสนามีพื้นที่พูดคุยกัน
ส่วนประเด็นการแต่งตั้ง พระพายัพ (นายพายัพ ชินวัตร) น้องชายของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็น "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์" นั้น นายปรีชากล่าวว่า เมื่อฆราวาส ไปบวชพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้จะให้ฉายา บังเอิญพระพายัพที่ไปอุปสมบท พอดีชื่อของพระพายัพมีตัวพ. จึงเข้าใจว่าฉายาของท่านเป็นเหมือนสมณศักดิ์ จริงๆแล้วไม่ใช่สมณศักดิ์ เพราะการจะได้สมณศักดิ์เป็นพระครู จะต้องมีระยะเวลาในการบวชตามกฎเถรสมาคม อย่างพระครูต้องบวช 5 ปีขึ้นไป ต้องทำงานทางด้านเผยแพร่จนเป็นที่ประจักษ์ และมีผลงานทางศาสนาและต้องเข้ามติเถรสมาคมอออกมามีการทูลเกล้า
เพราะฉะนั้นสมณศักดิ์ของพระไม่ใช่ได้ง่ายๆ ต้องมีการปฏิบัติเหมือนกับครูบาอาจารย์ที่จะได้อาจารย์ 2 อาจารย์ 3 เหมือนกันกรณีของพระพายัพนั้น พระอุปัชฌาย์ของพระพายัพได้ตั้งฉายาให้เท่านั้น ไม่ใช่การแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมแต่อย่างใด เหมือนคนทุกคนที่ไปบวชก็จะได้ฉายากันทุกคนแต่เป็นภาษาบาลี ยืนยันว่าในกรณีของพระพายัพยังไม่มีการดำเนินการตั้งสมณศักดิ์แต่อย่างใด และตำแหน่งสมณศักดิ์ไม่ได้ซื้อกันง่ายๆ