แม้ว ฝันสลาย ศาลปกครองสั่งยกเลิกกระจายหุ้น กฟผ.
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 23 มีนาคม 2549 15:24 น.
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้เพิกถอนการกระจายหุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กพฝ.) ในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยการยกเลิก พ.ร.ฎ.2 ฉบับ ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 11 คน ยื่นฟ้อง โดยศาลให้เหตุผลว่า พ.ร.ฎ.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ให้เพิกถอนการกระจายหุ้น กพฝ.ในตลาดหลักทรัพย์
วันนี้ (23 มี.ค.) เวลา 14.00 น. ศาลปกครองสูงสุดได้ออกนั่งพิจารณาคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 11 คน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี รมว.พลังงาน กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี ที่ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2548 และ พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2548 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ และขอให้ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาพิพากษา ยกเลิกเพิกถอน พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว
โดยศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ทั้ง 2 ฉบับ เพราะไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2549 เป็นต้นไป เท่ากับแผนการนำ กฟผ.เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครอง ได้มีประชาชนาจากเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งเดินทางมาฟังการอ่านคำพิพากษา พร้อมกับส่งเสียงโห่ร้องแสดงความยินดี เมื่อศาลปกครองสั่งยกเลิก พ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาคดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ ๒ นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด พร้อมองค์คณะได้นั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ฟ.๕/๒๕๔๙ซึ่งเป็นคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับพวกยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีกับพวกต่อศาลปกครองสูงสุด ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทกฟผ.จำกัด(มหาชน)พ.ศ.๒๕๔๘และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดกระบวนการเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามที่กฎหมายจัดตั้งขึ้น ให้เป็นรูปแบบบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด โดยมีบทบัญญัติที่กำหนดขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญไว้ คือ มาตรา ๔ กำหนดว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจใดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท ให้กระทำได้ตามพระราชบัญญัตินี้
โดยมีคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท และคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการในแต่ละขั้นตอน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน และเมื่อได้ดำเนินการในแต่ละขั้นตอนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงจะดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายต่อไปได้ คือ การตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทตามมาตรา ๒๖ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามมาตรา ๒๘ และเมื่อดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จึงจะทำให้การเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากองค์การของรัฐมาเป็นรูปแบบบริษัทเสร็จสมบูรณ์ และโดยที่การดำเนินการเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบให้ฝ่ายบริหารดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติอีก
ดังนั้น การดำเนินการในทุกขั้นตอนจึงมีความสำคัญ และต้องเป็นไปเพื่อการปกป้องการดำเนินการที่รัฐธรรมนูญถือว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติของกฎหมายโดยเคร่งครัด
ปัญหาว่าพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ประกอบด้วย ผู้ดำรงตำแหน่งในทางราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนพนักงานของรัฐวิสาหกิจ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคนซึ่งแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๗ (๕) ประกอบกับมาตรา ๕ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และโดยที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ถือเป็นคณะกรรมการที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดำเนินการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัท โดยมีหน้าที่กำหนดกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจส่วนที่จะโอนให้แก่บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นและส่วนที่จะให้ตกเป็นของกระทรวงการคลัง กำหนดพนักงานที่จะให้เป็นลูกจ้างของบริษัท กำหนดทุนเรือนหุ้นหรือทุนจดทะเบียนสำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท จำนวนหุ้น และมูลค่าของหุ้นแต่ละหุ้น ตลอดจนรายการต่าง ๆ ที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น กำหนดชื่อบริษัท โครงสร้างการบริหารงานของบริษัท รายชื่อกรรมการบริษัท และผู้สอบบัญชีจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัทที่จัดตั้งใหม่ จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกรัฐวิสาหกิจในกรณีที่มีการโอนกิจการของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อดำเนินการแล้วต้องเสนอผลการดำเนินการ ต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจพิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการเปลี่ยนทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหุ้นของบริษัทและการจัดตั้งบริษัทข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในขณะที่นายโอฬาร ไชยประวัติ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท นั้น นายโอฬารเป็นกรรมการในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับการสื่อสารและโทรคมนาคม จึงเป็นนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ. ซึ่งมีระบบรับส่งข้อมูลประกอบด้วยเส้นใยแก้วนำแสง และต่อมาบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้จัดตั้งบริษัท กฟผ. โทรคมนาคม จำกัด เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมและการสื่อสารทุกชนิด บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงมีประโยชน์ได้เสียกับกิจการของ กฟผ. และบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน)
นอกจากนั้น นายโอฬารยังเป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ กฟผ. ซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อีกด้วย นายโอฬารจึงเป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ กฟผ. และบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) และมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท และตามหลักฐานประวัติของนายโอฬารที่ใช้ประกอบการพิจารณาออกคำสั่งแต่งตั้งก็ระบุการเป็นกรรมการดังกล่าวไว้ชัดเจน
นายโอฬารจึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท อันเป็นการขัดต่อหลักความเป็นกลาง ซึ่งผู้มีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งได้รู้หรือควรรู้ถึงลักษณะต้องห้ามดังกล่าวแล้ว คำสั่งแต่งตั้งนายโอฬารเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจึงขัดต่อกฎหมาย และถือได้ว่าเป็นเหตุอันมีสภาพร้ายแรง และไม่อาจนำหลักการพ้นจากตำแหน่งที่ว่า ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่ผู้นั้นได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่เพราะเหตุการขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และตามหลักกฎหมายทั่วไป มาใช้กับกรณีนี้
จึงมีผลทำให้การกระทำใด ๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสียไปทั้งหมด หรือไม่มีผลทางกฎหมาย นอกจากนั้น นายปริญญา นุตาลัย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตามข้อ ๕ (๓) ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๓ และข้อเท็จจริงยังปรากฏต่อไปว่า ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๙) ประกอบกับข้อ ๖ และข้อ ๙ ของระเบียบเดียวกัน อันเป็นขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญก่อนการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
คณะกรรมการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมิได้จัดให้มีการสรุปสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับประกาศในหนังสือพิมพ์ และไม่ได้จัดให้มีการประกาศในหนังสือรายวันฉบับภาษาไทยฉบับเดียวกันติดต่อกันสามวัน แต่กลับประกาศในหนังสือพิมพ์แยกเป็นสามฉบับ โดยประกาศฉบับละหนึ่งวัน ซึ่งไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าว อันเป็นการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่ง (๙) แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒
ในส่วนของบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๘ มิได้มีบทบัญญัติใดที่จำกัดอำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอำนาจมหาชนและเป็นอำนาจเฉพาะของรัฐ และบทบัญญัติในมาตรา ๘ ที่ให้อำนาจบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) กระทำได้โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกิจการผลิตไฟฟ้า คือ การประกาศกำหนดเขตเดินสายไฟฟ้า เดินสายส่งไฟฟ้า หรือสายจำหน่ายไฟฟ้าไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามพื้นดินของบุคคลใด ปักหรือตั้งเสาสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่นลงในหรือบนพื้นดินของบุคคล และอำนาจรื้อถอนโรงเรือนหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างขึ้นหรือทำขึ้น หรือทำลาย หรือตัดฟัน ตัดต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ หรือพืชผลในเขตเดินสายไฟฟ้า อันเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของประชาชน ก็ไม่อาจกระทำได้ ตามมาตรา ๔๘ และมาตรา ๔๙ ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา ๒๖ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของ กฟผ. ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ทรัพย์สินดังกล่าวได้มาจากการเวนคืนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในท้องที่ตำบลบางปะกง เนื้อที่ประมาณ ๑๗๖ ไร่ และสิทธิเหนือพื้นดินเกี่ยวกับระบบส่งไฟฟ้าและสายส่งไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันติดอยู่กับที่ดินและเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๙ ประกอบกับมาตรา ๑๒๙๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๑๑ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา ๑๓๐๔ (๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งไม่อาจโอนไปให้บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ได้เช่นกัน
ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยข้างต้น ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่า การดำเนินการในขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญในการเปลี่ยนทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นหุ้นของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้เสียไปทั้งหมดหรือไม่มีผลตามกฎหมาย ย่อมมีผลทำให้การดำเนินการต่อมา
รวมทั้งมติของคณะรัฐมนตรีที่มีมติอนุมัติเปลี่ยนทุนของ กฟผ. เป็นหุ้นและจัดตั้งบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) รวมทั้งการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๘ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ เสียไปด้วยเช่นกัน
พิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๘ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๘ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว