กทม.วอชิงตัน ศึกษา กรณีโอบามา เทียบพงศพัศ

กทม.วอชิงตัน ศึกษา กรณีโอบามา เทียบพงศพัศ

แม้จะมีความมั่นใจเป็นอย่างสูงจาก นายถาวร เสนเนียม ว่า ชัยชนะต้องเป็นของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

เช่นเดียวกับ นายกรณ์ จาติกวณิช ที่วางเดิมพันด้วย "ตำแหน่ง" ทางการเมือง

กระนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สะท้อนความรู้สึกที่ "สูสี" ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

เป็นภาวะสูสีที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ครองสถานะ "เหนือ" กว่า

"ขอยกตัวอย่างการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งที่ผ่านมาที่มีการวิเคราะห์ว่าคะแนนสูสี แต่มีนักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ การที่ บารัค โอบมา ชนะการเลือกตั้งได้เพราะทำงานในพื้นที่ได้อย่างละเอียดลงถึงตัวบุคคล"

เป็นคอมเมนต์จาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่คะแนนสูสี การทำงานในพื้นที่จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ"

สำคัญทั้งต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และต่อ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

ยิ่งเมื่อผลการสำรวจของสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์จากครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม

ยิ่งเหมือนกับกรณีโอบามา-รอมนีย์มากยิ่งขึ้น

หัวข้อที่นิด้ากำหนดคือ "คนกรุงฯ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โค้งที่ 1" ระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม จาก 1,500 ตัวอย่างใน 50 เขต

ถามว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกใคร

ปรากฏว่า ร้อยละ 20.6 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร้อยละ 19.3 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ

ที่ไม่ควรมองข้ามคือ ร้อยละ 52.80 ยังไม่ตัดสินใจ

นี่เป็นการสอบถามขณะที่ยังไม่มีการสมัครรับเลือกตั้ง ยังไม่มีหมายเลข ต่อมา ในการสำรวจ "คนกรุงฯ กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.โค้งที่ 2" จำนวน 1,503 ตัวอย่างจาก 50 เขต

ถามว่า หากวันนี้เป็นวันเลือกตั้งจะเลือกใคร

ปรากฏว่า ร้อยละ 23.82 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ร้อยละ 19.16 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ที่ไม่ควรมองข้ามคือ ร้อยละ 48.04 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 2.26 จะไม่ลงคะแนนเสียง

เพียงเวลาไม่กี่วันก็เกิดการแปรเปลี่ยน แปรเปลี่ยนในลักษณะที่คะแนน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลดลงเล็กน้อย .53 คะแนน ขณะที่คะแนน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพิ่มจาก 19.3 เป็น 23.82 เท่ากับ 4.52

ส่งผลให้ส่วนยังไม่ตัดสินใจลดจากร้อยละ 52.80 เหลือ 48.04

การวิเคราะห์ของ นายธนพันธ์ โล่ประกอบทรัพย์ จากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า ต่างหากที่น่าสนใจ

ถามว่าอะไรคือปัจจัยทำให้คะแนน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เพิ่มขึ้น

ตอบว่า "เป็นผลจากการจัดการภายในของพรรคเพื่อไทยเริ่มชัดเจนมากขึ้นและสนับสนุน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อย่างเต็มที่"

ถามว่าอะไรคือปัจจัยทำให้คะแนน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลดลง

ตอบว่า "อาจมีสาเหตุมาจากการประชาสัมพันธ์ยังไม่เพียงพอ และเป็นการบ้านสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ในการช่วยเหลือและทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งพรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นหาเสียงและให้ความสำคัญอย่างมาก"

ยิ่งหากประสานเข้ากับผลการวิจัยเชิงสำรวจ "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ใครเลือกใคร" ระหว่างวันที่ 22-25 มกราคม ของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ที่ชายร้อยละ 42.9 หญิงร้อยละ 40.8 ตั้งใจเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ชายร้อยละ 36.0 หญิงร้อยละ 39.2 ตั้งใจเลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ก็จะประจักษ์ในจุด "ต่าง" อย่างมีนัยสำคัญระหว่าง 2 คนนี้

นั่นก็คือ คนหนึ่ง ได้คะแนนจากกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี คนหนึ่งได้คะแนนจากกลุ่มระดับปริญญาตรี

คนหนึ่งได้คะแนนจากกลุ่มรายได้น้อย คนหนึ่งได้คะแนนจากกลุ่มรายได้สูง

ความเหมือนกับ โอมาบา-รอมนีย์ของ พงศพัศ-สุขุมพันธุ์ ประเมินจากองค์ประกอบอะไร

ประเมินจาก โอบามาเป็นตัวแทนของคนระดับล่าง รอมนีย์เป็นตัวแทนของคนระดับบน เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ระดับล่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ระดับบน

สะท้อนลักษณะชนชั้นของการเมือง การเลือกตั้ง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์