'พงศพัศ' เปิด 8 นโยบาย ซื้อใจคนกรุง ปลุก ส.ส. ส.ก. ส.ข.เคาะทุกบ้าน นำเสนอนโยบายให้ประชาชนเข้าใจ
ที่พรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย ได้เปิดนโยบาย 8 ด้านอย่างเป็นทางการ โดยมีแกนนำพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมคับคั่ง อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำ กทม.พรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นต้น พร้อมด้วย ส.ส.กทม. - ส.ก. ส.ข. เข้าร่วมประชุม
โดย พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวบนเวทีว่า ตลอดการเดินหาเสียงรองเท้าตนขาดไป 2 คู่ พวกท่านเป็นเหมือนหัวใจของการขับเคลื่อน นโยบาย เพื่อเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างให้ดีขึ้น เรามีเวลาน้อย ตนอาสามาเป็นผู้ว่าฯ จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครแห่งสยามเมืองยิ้ม ซึ่งนโยบายเบื้องต้น 8 ด้าน จะอยู่ทุกป้าย บนถนนกทม. ประชาชนจะได้เห็นว่า เราทำอะไร เป็นการเปิดนโยบายอย่างเป็นทางการครั้งแรกทั้งหมด 8 ข้อ ที่กลั่นกรองมาจากการรับฟังปัญหาของ ส.ส. ส.ก. ส.ข. ของพรรค รวมถึงทางพรรคเพื่อไทยได้ทำการบ้านสรุปรวมปัญหาจนออกมาเป็นนโยบายเหล่านี้ ดังนั้นจึงอยากขอความร่วมมือ ส.ส. ส.ก. และ ส.ข. นำแผ่นพับพร้อมทั้งนโยบายไปเข้าถึงประชาชนทุกบ้านพื้นที่ 1,568 ตร.กม.ในกทม. อยากให้ทุกเช้าก่อนที่ประชาชนออกจากบ้านได้อ่าน และทำความเข้าใจนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยหลังจากนี้จะพร้อมลงพื้นที่รับฟังปัญหาเพื่อมาเพิ่มเติมนโยบาย อีกทั้งยังพร้อมแก้ไขนโยบายในแต่ละข้อที่ประชาชนเห็นว่ายังไม่ตรงจุด
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวต่อว่า ไม่อยากให้กังวลใจ กรณีที่มีการระบุว่า หากผู้ว่าฯ กับรัฐบาลมาจากพรรคเดียวกันแล้วจะไม่เกิดการถ่วงดุล เพราะระบบการตรวจสอบมีสภา กทม.คอยตรวจสอบอยู่แล้ว ประมาณ 60 คน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็น ส.ก.จากพรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ก.จากพรรคเพื่อไทย เพียง 14 คนเท่านั้น ดังนั้นมั่นใจว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ส.ก.จากพรรคประชาธิปัตย์จะตรวจสอบการทำงานของผู้ว่าฯ เพื่อไทยแน่นอน แต่หากผู้ว่าฯ กทม.มาจากพรรคเดียวกันกับ ส.ก.ที่มีจำนวนมาก ส่วนตัวมองว่าจะทำให้การตรวจสอบน้อยลง
พล.ต.อ.พงศพัศ ยังกล่าวด้วยว่า นโยบาย 8 ข้อนั้นเป็นเพียงนโยบายขั้นพื้นฐานเท่านั้น หลังจากนี้จะมีการทยอยเปิดตัวนโยบายอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้อง กทม.มากขึ้น ทั้งนี้นโยบาย 8 ข้อประกอบด้วย
นโยบายที่ 1
1. ซื้อสินค้าราคาถูก ลดหนี้นอกระบบ ใช้กองทุนชุมชนเมือง ลดรายจ่าย สร้างรายได้ แยกเป็น 5 ข้อ คือ 1. สร้างคุณภาพชีวิต โดยลดภาระหนี้นอกระบบให้คนกทม. มีแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สามารถมีโอกาสทำมาค้าขาย
2. พ่อค้า แม่ค้า จะได้รับการคุ้มครองดูแล และมีรายได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
3. สร้างศูนย์โอทอป เพื่อให้คน กทม.สามารถนำสินค้าจากชุมชนต่างๆ มาจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี
4. ส่งเสริมการสร้างตลาด กทม.เพิ่มขึ้น และจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้า ในสำนักงานเขต เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาถูก และ
5. ปรับปรุงย่านการค้าให้เป็นเอสเอ็มอีเซ็นเตอร์ เพื่อให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ได้มีโอกาสค้าขายกับกลุ่มเออีซี และธุรกิจระดับโลก
นโยบายที่ 2 วางโครงข่ายจราจร และระบบขนส่งมวลชนใหม่ คืนเวลาให้ภาคธุรกิจ คืนความสุขให้ครอบครัว ประกอบด้วย
1. จัดตั้งศูนย์ควบคุมระบบไฟสัญญาณจราจร โดยการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ และให้ครอบคลุมทุกทางแยก และติดตั้งกล้องซีซีทีวีในทุกเส้นทางเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวและการสะสมของรถบนท้องถนน
2. ประสานงานแก้ไขปัญหาจราจรร่วมกับ ขสมก.โดยจัดระบบการเดินรถใหม่ ลดความซ้ำซ้อนของเส้นทางการเดินรถ เพื่อเพิ่มพื้นผิวและลดปัญหาจราจร
3. ประสานงานร่วมกับกระทรวงคมนาคม สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยกระจายปริมาณรถและย่นระยะเวลาการเดินทางไป-กลับ เพื่อการขุดอุโมงค์และสร้างสะพานข้ามแยก เพื่อให้การเดินรถเกิดความต่อเนื่อง
4. ขยายโครงข่ายจราจรในพื้นที่ กทม.รวมทั้งวงแหวนที่ต้องเชื่อมต่อกับโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม
5. ทำระบบ Feeder โดยสร้างโครงข่าย Monorail และรถเมล์รับส่งคน กทม.ให้สามารถเข้าถึงบีทีเอสและเอ็มอาร์ทีได้สะดวก
6. สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ถนนทุกสายใน กทม.
7. ปรับปรุงที่พักผู้โดยสารเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ผู้ใช้บริการรถสาธารณะ พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย
นโยบายที่ 3 แก้ปัญหาอาชญากรรม อัคคีภัย เฝ้าระวังความปลอดภัย 24 ชม. ประกอบด้วย
1. จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังอาชญากรรมและอัคคีภัย โดยประสานงานเพื่อเชื่อมระบบซีซีทีวีระหว่าง กทม. ตำรวจ ตึกสูง นิติบุคคลหมู่บ้าน และคอนโดมิเนียมทั่ว กทม. ซึ่งจะเป็นศูนย์เฝ้าระวังอาชญากรรมและอัคคีภัยตลอด 24 ชม.เพื่อสามารถกำหนดเป้าหมายและประสานงานให้ทีมเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์เครื่องมือให้ความช่วยเหลือเข้าถึงสถานที่เกิดเหตุได้ทันที
2. ให้ความสำคัญกับแผนซ้อมอัคคีภัย และอุบัติภัย ณ ตึกสูง อาคารสำนักงาน และคอนโดมิเนียมทั่วกรุงเทพฯ
3. ติดตั้งกล้องซีซีทีวีในตรอกซอกซอย ชุมชน พื้นที่เสี่ยง จุดเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับคน กทม.ตลอด 365 วัน
4. ประสานงานกับการไฟฟ้านครหลวงติดตั้งไฟส่องสว่างให้ทั่วทุกพื้นที่เพื่อให้คน กทม.ที่เดินทางและทำงานในเวลากลางคืน หรือต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อลดความเสี่ยงทางอาชญากรรม
นโยบายที่ 4 ขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากชุมชน คืนลูกหลานให้พ่อแม่ ประกอบด้วย
1. สนับสนุนการขยายโครงการ “ชุมชนอุ่นใจได้ลูกหลานกลับคืน” ให้ครบทุกชุมชนที่ยังเป็นพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติด โดยเปิดบ้านอุ่นใจเป็นศูนย์ประสานงาน เฝ้าระวังยาเสพติดในชุมชนและเป็นสถานบำบัดรักษาฟื้นฟูเด็ก และเยาวชนที่ติดยาเสพติด
2. ให้ทุกโรงเรียนในสังกัด กทม.เป็นโรงเรียนสีขาวปลอดยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง
3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในชุมชนเสี่ยงให้ทุกชุมชนมีลานกีฬาหรือลานกิจกรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชน มีสถานที่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและอบายมุข
4. ให้โรงพยาบาลในสังกัดใน กทม.ทุกแห่ง เป็นศูนย์ฟื้นฟูและบำบัดผู้เสพยาเสพติด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นโยบายที่
นโยบายที่ 5 บริหารจัดการน้ำไม่ท่วม ไม่เอ่อ ไม่ขัง ท่อไม่ตันอีกต่อไป ประกอบด้วย
1. ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้พื้นที่ กทม.ไม่มีปัญหาในเรื่องของน้ำท่วม โดยปรับปรุงท่อระบายน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำ และขยายท่อระบายน้ำให้กว้างขึ้น พร้อมทั้งเชื่อมต่อท่อระบายน้ำจากหมู่บ้านและชุมชนให้น้ำสามารถไหลลงสู่คลองได้อย่างรวดเร็วและแก้ไขอุโมงยักษ์ระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
2. ขุดลอกและรักษาคูคลอง ท่อระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับ ปรุงคุณภาพน้ำในคูคลองให้ระบบนิเวศคืนกลับมา
3. ตั้งศูนย์เฝ้าระวังน้ำในระดับพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การพยากรณ์อากาศ ระดับน้ำ การระบายน้ำอย่างใกล้ชิด
4. สร้างเขื่อนริมตลิ่ง ริมแม่น้ำ เพื่อป้องกันพื้นที่ลุ่มต่ำไม่ให้น้ำทะเลหนุนเข้าท่วมบ้านเรือน เลือกสวนไร่นา
5. ยกระดับพื้นผิวถนนที่อยู่ในระดับต่ำและผิวถนนที่มีน้ำท่วมขังทุกครั้ง เมื่อฝนตกหนักทั้งในหมู่บ้าน ชุมชน และในพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ 6. ขยะหน้าบ้านเก็บทั้งวัน กทม.สะอาดสดใสไร้มลพิษ
นโยบายที่ 6 ขยะหน้าบ้านเก็บทั้งวันกทม.สะอาดสดใสไร้มลพิษ ประกอบด้วย
1. เพิ่มพนักงานและรถเก็บขยะให้มากขึ้นโดยมีการบริหารจัดการให้สามารถเก็บขยะได้ทั้งวัน
2. ปรับปรุงระบบการแยกขยะเพื่อนำขยะไปรีไซเคิล และใช้ประโยชน์ด้านพลังงานให้มากขึ้น
3. เพิ่มเตาเผาขยะไร้มลพิษ เพื่อกำจัดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
นโยบายที่ 7 ทางเลียบริมเจ้าพระยาให้คนกทม.ขี่จักรยาน เดิน วิ่ง เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ มีแนวคิด คือ ผลักดันให้มีการสร้างทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งเพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินวิ่งและขี่จักรยานเพื่อให้คนกทม.และครอบครัว ได้มีสถานที่พักผ่อนออกกำลังกาย และชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามรวมทั้งเข้าถึงแหล่งการค้าแหล่งชุมชน แหล่งการเรียนรู้ ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนริมน้ำต่อไปในอนาคต
ส่วนนโยบายที่ 8 จัดทางเท้าใหม่ สวนสาธารณะใหม่สายไฟฟ้าลงดิน สร้าง Green City ประกอบด้วย
1. ปรับปรุงและคืนทางเท้าใหม่ ให้สะอาด แข็งแรง และเรียบเสอมกันรวมทั้งจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยและสิ่งกีดขวางต่างๆเพื่อให้สามารถทำให้ทางเท้าได้อย่างสะดวกปลอดภัย
2. ประสานการไฟฟ้านครหลวงและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อนำเสาไฟฟ้าและสายสัญญาณโทรคมนาคมลงดิน และปลูกต้นไม้ใหญ่ทดแทน
3. เพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ให้มากขึ้น โดยการเช่าที่จากกรมธนารักษ์ และประสานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพื่อนำพื้นที่ใต้ทางด่วนมาพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว
4. คืนความสุขให้กับครอบครัว โดยการปรับปรุงสวนสาธารณะให้เป็นสถานที่พักผ่อนของทุกเพศทุกวัย รวมทั้งติดตั้ง Free WiFi ทุกสวนสาธารณะ