'ธาริต'เเจงยิบการตั้งข้อกล่าวหา'คุณชายหมู'-สอบสัมปทาน'ช่อง 3'
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยเเลนด์ เอฟเอ็ม 97 เมกะเฮริทซ์ กรณีความคืบหน้าตรวจสอบข้อร้องเรียนการต่อสัมปทานสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ออกไป 10 ปีในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อปี 2553 ว่า เรื่องนี้ยังไปไม่ถึงขั้นว่าผิดหรือไม่ เพราะอยู่ในชั้นร้องเรียนจากชมรมนักกฎหมายพิทักษ์ผลประโยชน์รัฐที่ได้ยื่นเรื่องนี้กล่าวหาการต่อสัมปทานช่อง 3 ของอสมท.ว่าไม่ถูกต้อง ผู้ร้องได้ทำการบ้านมาดีในการยื่นหลักฐาน เพราะในหลักการนั้น ผู้ร้องไม่ได้กล่าวหาช่อง 3
เเต่ระบุว่า อสมท.ละเลยการต่อสัญญาที่ดำเนินการเมื่อปี 2553 ที่กระทำเเบบอัตโนมัติ เพราะปกติเมื่อครบสัญญาเเล้ว ต้องเปิดเเข่งขันเเบบเป็นธรรมเพื่อผลประโยชน์รัฐ ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้รับสัมปทาน เพราะกรณีนี้รัฐได้ค่าต่อสัมปทานต่ำ ทั้งๆ ที่ควรใช้อัตราค่าตอบเเทนที่เเท้จริงทางธุรกิจในวันนี้ ไม่ใช่นำอัตราเมื่อ 10 ปีที่เเล้วมาคำนวณต่อสัญญา เเละเรื่องนี้ยังมีเงินงอก 405 ล้านบาท ที่ไม่มีในสัญญา โดยมีการนำจ่ายเพิ่มเข้ามาเเบบไม่มีที่มาที่ไป ฉะนั้นเรื่องนี้เมื่อสอบสวนผู้ร้องเสร็จเล้วก็ต้องรับฟัง อสมท.เเละช่อง 3 ฉะนั้นดีเอสไอจึงเชิญนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานบอร์ด อสมท.ในตอนนั้นและนายประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารช่อง 3 มาชี้เเจงกับดีเอสไอวันที่ 16 ม.ค.นี้ จากนั้นจะประมวลเรื่องนี้ว่ามีมูลหรือไม่ หากมีมูลก็สืบสวนต่อไป
นายธาริต ยังกล่าวถึงกรณีที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เเละบริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท เเละเตรียมขายหน่วยลงทุนกับประชาชนว่า ดีเอสไอไม่สบายใจนับสัปดาห์ในเรื่องนี้ เพราะความผิดตาม พรบ.หลักทรัพย์ฯ เป็นคดีพิเศษที่ดีเอสไอรับผิดชอบโดยตรง
เมื่อมีการตั้งกองทุนนี้ก็กังวลว่า เป็นเรื่องเชื่อมโยงการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเมื่อกลางปีที่เเล้ว หน่วยตรวจสอบของดีเอสไอได้เริ่มตรวจสอบเเละพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องนี้กล่าวหาว่ามีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ดีเอสไอจึงเชิญผู้ว่าฯกทม.เเละรองผู้ว่าฯกทม.มารับทราบข้อกล่าวหาว่า เป็นเรื่องที่ใช้อำนาจของ รมว.มหาดไทย มาต่อสัมปทานโดยไม่ชอบ เเละใช้ชื่อสัญญาว่าจ้างเดินรถเเละบริหาร 3 0ปี เเต่เนื้อหาจริงๆ คือ ต่อสัมปทานเเละขยายเส้นทาง ทั้งๆ ที่สัมปทานเดิมยังเหลือ 13 ปี เเต่กทม.ต่ออายุสัญญาสัมปทานไปอีก 17 ปี รวม 30 ปี มุมมองของดีเอสไอมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะอำนาจต่อสัมปทานต้องเป็นของ รมว.มหาดไทย ซึ่ง รมว.มหาดไทย ต้องนำเรื่องเเบบนี้เข้าที่ประชุม ครม.ปี 2532 บีทีเอสกับกทม.ก็ทำเเบบนี้ เเต่ครั้งนี้กลับทำเเบบรู้เเละเลี่ยงใช้ชื่ออื่นๆในสัญญา เเต่สาระคือต่อสัมปทาน
"ฉะนั้นมันผิดกฎหมายอาญาเเละสัญญานี้เป็นโมฆะ บีทีเอสนำโอกาสในอนาคตตั้งกองทุนระดมทุนจากประชาชนผ่านหน่วยลงทุน ตรงนี้ไปกันใหญ่เเล้ว เพราะมีการหงายไพ่เเล้ว ดีเอสไอมองว่า เรื่องนี้ถูกต้องหรือไม่ เเละกฎหมายเคร่งครัดกับกฎหมายลงทุนที่หน่วยเงินลงทุนต้องมีที่มาอย่างถูกต้อง ตนคุยกับอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสุงสุดที่ร่วมสอบสวนเรื่องนี้ว่า ตรงนี้คือ มูลเหตุจุงใจในการต่อสัญญาในอนาคต กฎหมายกระจายอำนาจฯของกระทรวงมหาดไทยนั้นระบุว่า อำนาจเดิมตามกฎหมายเดิมที่ซ้อนกับอำนาจใหม่ของกฎหมายใหม่นั้น ต้องเเก้ไขกฎหมายเดิมก่อน เเต่กระทรวงมหาดไทยยืนยันว่ายังไม่มีการเเก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่58ที่เชื่อมกับ มาตรา 31 ของกฎหมายกระจายอำนาจฯ
ฉะนั้น อำนาจดังกล่าวยังอยู่ที่ รมว.มหาดไทย ฉะนั้นกทม.เเละบีทีเอสต้องทำเหมือนเดิมในปี 2532 หากเลี่ยงบาลีเเบบนี้กันหมด บ้านเมืองจะทำเช่นใด ดีเอสไอโดนโจมตีเละ โดยเฉพาะตนจากทีวีดาวเทียมบางช่อง ยืนยันว่าตนร่วมทำงานกับคณะทำงาน 20 กว่าคน ตนจะชี้นกชี้ไม้ไม่ได้เเละยอมติดคุกเเทนคนอื่นไม่ได้เช่นกัน" นายธาริต กล่าว
เมื่อถามว่า เเสดงว่านายคีรี กาญจนพาสน์ ผู้บริหารบีทีเอส ใช้โอกาสในอนาคตตั้งกองทุนรวมเเละขายหน่วยลงทุนกับประชาชนในการขยายเเละเดินไฟฟ้า นายธาริต กล่าวว่า ใช่ ประชาชนจะเป็นตัวประกันหากไปซื้อหน่วยลงทุน บริบทของเรื่องนี้มีสองเรื่องเเต่พันกันอยู่ เเต่กำลังดูว่าจะรวมสำนวนคดีเป็นคดีเดียวหรือไม่
เมื่อถามว่าข้อต่อสู้ของ กทม.ตอนนี้คือ ทำไมไม่ดำเนินคดีผู้ว่าฯกทม.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ต้องยื่นต่อ ปปช. นายธาริต กล่าวว่า ตนชี้เเจงกับฝ่ายกฎหมายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ที่มาพบดีเอสไอเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า อำนาจต่อสัญญาสัมปทานเป็นของ รมว.มหาดไทยไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯกทม. ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ว่าฯกทม.เเละรองผู้ว่าฯกทม.ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของตนเอง มาตรา 157 นั้น ต้องใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่สุจริตหรือเเสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองหรือผู้อื่น
กรณีนี้ผู้ว่าฯกทม.ดำเนินการการนอกอำนาจหน้าที่ เเละนำอำนาจของคนอื่นมาดำเนินการ ดีเอสไอจึงฟ้องผู้ว่าฯกทม.เเละรองผู้ว่าฯกทม.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ไม่ได้ กรณีนี้ผู้ว่าฯกทม.เเละรองผู้ว่าฯกทม.มีความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ปี 2515 มาตรา 58 เเละกฎหมายกระจายอำนาจฯของกระทรวงมหาดไทย