ยิ่งลักษณ์ แจง เขาพระวิหารอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย อย่าเอามาเป็นประเด็นการเมือง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง การเตรียมเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านรัฐบาลเรื่องของเรื่องข้อพิพาทระหว่างไทย – กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร ว่า ต้องขอร้องการชุมนุมต้องขอให้กระทำด้วยความสงบ ส่วนประเด็นนี้ขอความกรุณาว่า อย่าพูดเป็นประเด็นการเมืองเลย เพราะเรื่องนี้เป็น เรื่องที่สำคัญของประเทศ และรัฐบาลก็ยืนยันในเรื่องของการต่อสู้ เพื่อปกป้องอธิปไตยอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯได้ใช้ความสนิทสนมส่วนตัวคุยกับสมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชา บ้างหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า งานบางอย่างเราเอง ในความรู้จักกันส่วนตัว เราคุยได้ในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัวไม่มีอะไรที่จะมาลบล้างความสำคัญของผลประโยชน์ของประเทศชาติอันเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญเรื่องต่างๆของเขาพระวิหาร ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคดีความ ก็คงต้องว่าไปตามขั้นตอนของกฎหมายด้วย แต่เราเองก็ได้ให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในด้านกฎหมายรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงว่าต่างประเทศดูแลอยู่ด้วย
เมื่อถามว่า นายสรุพงษ์ ระบุว่านายกฯได้คุยกับสมเด็จฮุนเซ็นแล้ว แต่ทางกัมพูชายืนยันจะดำเนินการฟ้องร้องในชั้นศาลต่อไป นายกฯ กล่าวว่า ทุกประเทศต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ดังนั้นทุกอย่างคงต้องว่าไปตามขั้นตอน เราก็ต้องทำในขั้นตอนของประเทศไทยให้ดีที่สุด แต่ว่าเราเองก็อาศัยความสัมพันธ์ทางการทูตนั้นให้การพิจารณาต่างๆเป็นไปอย่างสงบ เราก็ไม่อยากให้บรรยากาศแนวชายแดนตรึงเครียด ดังนั้นสิ่งที่ได้ขอร้องคือ ไม่อยากเห็นปัญหาที่ถกเถียงกันนี้เป็นปัญหาการเมือง เพราะสิ่งที่เราต้องการคือ จะทำอย่างไรในการร่วมกันรับฟังข้อคิดเห็นและสรรพกำลังที่จะต่อสู้และแก้ไขในเรื่องของการปกป้องอธิปไตยให้ดีที่สุด
เมื่อถามว่าทีมโฆษกที่รัฐบาลจะให้มีการตั้งขึ้นมา เพื่อชี้แจงในเรื่องของข้อพิพาทเขาพระวิหารให้กับประชาชน ควรจะรีบตั้งหรือไม่ และจะมีการนำเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันพรุ่งนี้(8ม.ค.)หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศ ก็สามารถที่จะตั้งผู้ที่จะเป็นโฆษกที่จะอธิบายได้ เพราะกระทรวงการต่างประเทศและนายพงศ์เทพ ก็ได้มีการประชุมหารือกับอย่างต่อเนื่องกับทีมที่ปรึกษาต่างประเทศอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อมีวาระสำคัญที่จำเป็นจะต้องตัดสินใจ ก็คงจะต้องนำเข้าสู่รัฐสภา เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบ และชี้แจงข้อคิดเห็นต่างๆ เพราะถือเป็นวาระที่ทุกคนจะต้องร่วมกันคิด