ค่าแรง300บาทไม่ทำให้เลิกจ้าง-เจ๊ง-เงินเฟ้อ

“กิตติรัตน์” ควง รมว.แรงงาน-เลขาสภาพัฒน์ แจงผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บาท ยันแรงงานไทยมีฝีมือและวินัย ดีกว่าจีน-เวียดนาม

ค่าแรง300บาทไม่ทำให้เลิกจ้าง-เจ๊ง-เงินเฟ้อ


                  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกันชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ ผ่านรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"


               นายเผดิมชัย กล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เป็นผลดี และถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ทำให้แรงงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีการพัฒนาแรงงานดี สินค้าดี กำลังซื้อก็ย่อมดีขึ้นตามด้วย และแรงงานไม่ต้องเดินทางทำงานต่างประเทศ หรือมุ่งไปยังพื้นที่ที่มีค่าแรงงานที่สูง

              เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายเพิ่มค่าแรงทั่วประเทศ ตรงนี้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยให้แรงงานทำงานในพื้นที่ ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องทิ้งบ้านเกิดหรือครอบครัวไปใช้แรงงานในพื้นที่อื่น อย่างไรก็ตามหากจะดูผลกระทบก็คงต้องรอไปอีกระยะหนึ่ง แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ประมาท ได้ร่วมกันทำงาน รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และมีมาตรการสำรองเตรียมไว้ก่อนที่จะประกาศขึ้นค่าแรงเมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา


             ขณะที่นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลมั่นใจกับการปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้ว่าจะส่งผลดี ไม่มีเหตุผลอะไรทีจะทำให้หยุดกิจการจนเป็นปัญหาต่อการจ้างงาน แต่บางบริษัทที่อาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวบ้างนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติไปแล้วว่าสิ่งใดที่เคยเป็นมาตรการช่วยเหลือ ประคับประคองในรอบแรก เราจะขยายเวลาต่อเนื่องไปให้ และพิจารณามาตรการใหม่เพิ่มเติมเสนอต่อ ครม. 

โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ 

1. ลดผลกระทบด้านต้นทุนค่าใช้จ่าย 

2.เพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ 

3.การเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ  

4.การช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่อง

              มั่นใจว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยประคับประคองผู้ประกอบการจนได้รับผลดีอย่างเต็มที่ ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น คือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก และผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มไม่สูง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันอยู่แล้วเมื่อประเทศมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จึงถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องพิจารณาส่งต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้ไปยังประเทศที่มีแรงงานมากกว่าและค่าจ้างต่ำกว่า


             ทางด้านนายอาคม กล่าวถึงข้อห่วงใยเรื่องภาวะเงินเฟ้อจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ภาวะเงินเฟ้อมาจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น ราคาน้ำมัน แต่การปรับค่าแรง 300 บาทจะทำให้แรงงานได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิการทำงานเพิ่มขึ้นทันที และรัฐบาลกำลังปรับยุทธศาสตร์จังหวัดเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ แรงงานจะมีงานทำในทุกจังหวัด รวมทั้งพัฒนาระบบรอจิสติก ลงทุนระบบราง ขยายถนน เชื่อมเมืองต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตได้


            ทั้งนี้ค่าแรง 300 บาทของไทยไม่ได้แพงที่สุดในภูมิภาค แต่ถ้าเทียบกับจีน เวียดนาม ที่ถูกกว่าเรามากก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับแรงงานไทย เพราะถ้าเทียบเรื่องฝีมือกับวินัยแล้วแรงงานไทยมีคุณภาพสูง พิสูจน์ได้จาก นักลงทุนญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย 70% ของการลงทุนทั้งหมด เขาชอบคนไทยตรงที่มีวินัย ดังนั้นเราแข่งขันได้แน่นอน นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติหลายรายในไทยที่ทำธุรกิจเอสเอ็มอีเขาก็เห็นด้วย พร้อมและพอใจในคุณภาพ และมีโปรแกรมส่งแรงงานไปฝึกทักษะในต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานในไทย นี่คือส่วนหนึ่งในการปรับตัวของผู้ประกอบการ


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์