“กิตติรัตน์”มั่นใจเศรษฐกิจดีกว่าปี 55

เตรียมปรับวงล้อเศรษฐกิจ 3 ด้านให้ดีขึ้น เพิ่มรายได้ผู้ใช้แรงงานหวังเพิ่มกำลังซื้อ ด้านเลขาสศช.ตั้งเป้าจีดีพีไทยโต 5.5 % ส่งออก 9%

“กิตติรัตน์”มั่นใจเศรษฐกิจดีกว่าปี 55


                   นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวในรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ถึงภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2556 ว่า เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะดีเท่ากับปี 55 หรือดีกว่า เพราะรัฐบาลกำลังปรับสมดุลวงล้อเศรษฐกิจที่สำคัญทั้ง 3 วงล้อให้ดีขึ้น ทั้งเรื่องกำลังซื้อในประเทศ การใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชน ที่ผ่านมายังทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เราทราบดีว่าส่งออกได้ยากขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ซื้อมีกำลังซื้อน้อยลง โดยเราสามารถปรับกำลังซื้อในประเทศได้โดยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่ทำงานในประเทศเรา ทั้งที่มีสัญชาติไทยและต่างประเทศ รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย ปานกลาง จนถึงรายได้สูงด้วย หากคนกลุ่มนี้มีรายได้ดีขึ้น กำลังซื้อจะมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศเท่านั้น


              ส่วนการเบิกจ่ายเงินภาครัฐนั้น ต้องเตรียมตัวอย่างดีตั้งแต่การจัดทำงบประมาณในสภาฯ เพราะจะสามารถทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และติดตามความคืบหน้าการลงทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำได้รวดเร็วมากขึ้น ส่วนการลงทุนของภาคเอกชนนั้น หากอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ รวมทั้งกำลังซื้อในประเทศดี ก็จะเกิดการลงทุนใหม่และการขยายกิจการได้ ซึ่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นส่วนสำคัญของการปรับวงล้อเศรษฐกิจด้วย
นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรกที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่นให้ประเทศมากกว่า ว่าหากไม่มีโครงการนี้ คนจะตัดสินใจซื้อรถน้อยลงกว่านี้ และทำให้รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้

              รวมทั้งทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนยังเป็นเดิมคือใช้รถจักรยานยนต์ซ้อน 3 หรือ 4 กันต่อไป ในส่วนของภาษีที่จะต้องคืนให้ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นภาระของรัฐนับแสนล้านบาทนั้น ความจริงเป็นภาษีของผู้ซื้อรถที่เขาจ่ายให้กับรัฐอยู่แล้ว แต่รัฐเอาเงินจำนวนนี้ไปหมุนใช้ประโยชน์ก่อน เพราะมีหนี้สาธารณะอยู่บ้าง ซึ่งทำให้รัฐกู้เงินน้อยลง ประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 3 พันล้านบาทต่อปี ส่วนปัญหารถติดจากโครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรกนั้น ก็เป็นความจำเป็นที่ภาครัฐต้องลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคม เพื่อให้คนตัดสินใจขับรถมาในยามจำเป็น และใช้รถสาธารณะในยามที่เหมาะสม ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้าจะมีการเสนอโครงการต่างๆ ที่เคยติดขัดและไม่ได้รับการผลักดัน ทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน หรือรถเมล์


            ทั้งนี้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ เราจะดูในองค์รวมให้มีความสอดรับกันทั้งหมด และทำอย่างระมัดระวัง ให้เป็นโครงการที่คุ้มค่า ต้องผ่านความเห็นชอบจากครม. และนำเข้าสภาฯด้วย ซึ่งการลงทุนในอนาคตที่เราจะเสนอในช่วงระยะเวลา 7 ปี จากนี้ไปจะมีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท


            ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ในปี 2556 ถือว่าประเทศไทยได้กลับเข้าสู่โหมดปกติแล้ว เชื่อว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ 5-6 % อย่างไรก็ตามเราได้ตั้งเป้าหมายแบบกลางๆไว้ที่ 5.5 % ซึ่งตัวขับเคลื่อนที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ตามเป้ามาจาก 3 เรื่องคือ การบริโภคที่ยังมีต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี หรือไตรมาสที่ 3 และ 4 การลงทุนของภาคเอกชน และการส่งออกคาดว่าการส่งออกน่าจะโต 9 % และสิ่งที่จะมาเติมคือการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โดยขณะนี้มี 2 ส่วนหลักคือการลงทุนในเรื่องการป้องบริหารจัดการน้ำที่มีงบประมาณ 3 แสนล้านบาท และอีกส่วนเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นกับการพัฒนาประเทศ ขณะนี้ทางกระทรวงการคลังกำลังนำเรื่องเข้า ครม.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์