เมื่อวันที่ 2 มกราคม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงถึงความคืบหน้าการแจ้งข้อกล่าวหา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และข้าราชการ กทม. ผู้บริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี รวม 11 ราย
ประกอบด้วย ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. 2.นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม. 3.นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ อดีตปลัด กทม. 4.นางนินนาท ชลิตตานนท์ อดีต รองปลัด กทม. 5.นายธนา วิชัยสาร ผอ.สำนักจราจรและขนส่ง กทม. 6 .นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ผู้มีอำนาจลงนามบริษัท กรุงเทพธนาคม 7.นายอมร กิจเชวงกุล ผู้มีอำนาจลงนามบริษัท กรุงเทพธนาคม 8.นายคีรี กาญจพาสน์ ผู้มีอำนาจลงนามบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ 9.นายสุรพงศ์ เลาหะอัญญา ผู้มีอำนาจลงนามบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ 10.บริษัท กรุงเทพธนาคม และ11.บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ให้มารับทราบข้อกล่าวหากรณีอนุมัติให้ขยายอายุสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าโดยไม่มีอำนาจ ฐานร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณู ปโภค โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรี ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ในวันที่ 9 ม.ค.นี้
“คดีนี้อัยการมีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหาบุคคล 9 รายและนิติบุคคลอีก 2 ราย เพราะผลของการฝ่าฝืนไม่ทำปฎิบัติตามประกาศของคณะปฎิวัติ ทำให้สัญญาการให้การบริการเดินรถ รวมถึงสัญญาอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดเจน” อธิบดีดีเอสไอ กล่าว
นายธาริต กล่าวว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญา ดังนั้นดีเอสไอจะทำหนังสือส่งไปยังนายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการลงนามอนุมัติสัมปทานให้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ว่า อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของอำนาจบอกเลิกการทำนิติกรรมที่ทำขึ้นใหม่ หรืออาจสั่งให้ผู้ว่ากทม.ทำการยกเลิกสัญญาก็ได้
และยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ได้ทำตามใบสั่งทางการเมือง แต่ดีเอสไอทำตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพรา ะจากการตรวจสอบของดีเอสไอพบความผิดและความไม่ถูกต้องของการทำสัญญาหลายประการ อย่างไรก็ตาม สำหรับขั้นตอนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 11 รายนั้น พนักงานสอบสวนจะแจ้งรายละเอียดข้อกล่าวหา เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหานำไปแก้ต่างสู้คดีเช่นเดียวกับคดีอื่นๆเคย ปฏิบัติ
ด้านม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรณีที่ดีเอสไอเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 มกราคมนั้น ตนขอหารือกับทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ก่อน และยังมั่นใจในเอกสารหลักฐานที่มีอยู่พร้อมยืนยันทำทุกอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายรวมถึงมั่นใจในกระบวนการของกฎหมายอีกด้วย
“การกระทำของดีเอสไอมีข้อพิรุธ จึงตัดสินใจส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมตรวจสอบว่าการดำเนินการของดีเอสไอเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 ซึ่งใช้สิทธิ์ในการดำเนินการตามกฏหมายกล่าวโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อศาลอาญาทันทีที่ได้รับเอกสารจากดีเอสไอ เพื่อให้สังคมไทยกลับสู่ภาวะความเที่ยงธรรมตามหลักนิติธรรมในการบริหารบ้านเมืองที่ดี”ผู้ว่าฯกทม.กล่าว
พร้อมยืนยันด้วยว่าการดำเนินการโครงการดังกล่าว ไม่ใช่การต่อสัมปทาน แต่เป็นสัญญาว่าจ้างโดยใช้ทรัพย์สินของ กทม.และรายได้ตกเป็นของกทม.รวมถึงเป็นอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย และทำไปเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และความผาสุขของคนกรุงเทพ
พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม. กล่าวยภายหลังประชุม กกต.กทม. เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ว่า ผู้ว่าฯ กทม. จะครบวาระในวันที่ 10 ม.ค. นี้ หาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ อยู่จนครบวาระ กกต. จะมีเวลาจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน และกำหนดเบื้องต้นไว้วันที่ 17 ก.พ. แต่ถ้าม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลาออกก่อนครบวาระ กกต. จะมีเวลาจัดการเลือกตั้งเพิ่มเป็น 60 วัน ดังนั้นน่าจะกำหนดวันเลือกตั้งได้ในวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. 56
“เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียนและสุ่มเสี่ยงกับการกระทำผิด ตามมาตรา 57 ของกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น จึงอยากขอร้องให้ ม.รว.สุขุมพันธ์ ลาออกก่อนครบวาระ เพราะจะได้หมดปัญหาเรื่องการร้องที่เข้าข่ายการกระทำผิดมาตราดังกล่าว” นายทวีศักดิ์ กล่าว
ส่วนนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เชื่อว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างเข้มข้น ในส่วน กกต.ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ยืนยันว่าจะจัดการเลือกตั้งด้วยความเป็นกลาง สุจริต เที่ยงธรรม ซึ่งขณะนี้ กกต.ได้ออกระเบียบเกี่ยวกับวิธีการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นเพิ่มเติม สาระสำคัญคือไม่ให้ผู้สมัครนำเรื่องของสถาบันมาหาเสียง และอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่คาดว่าจะใช้ได้ทันกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะมีขึ้น
“ดีใจที่ กกต.กทม.ตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงร้อยละ 70ส่วนตัวเห็นว่าถ้ามีผู้มาใช้สิทธิ์ เกินกว่าร้อยละ 60ก็ดีใจแล้ว เพราะในอดีตที่ผ่านมาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึงร้อยละ 60”นายประพันธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้จะใช้งบประมาณ 165ล้านบาท และได้เตรียมงบฯสำหรับการประชาสัมพันธ์ 20ล้านบาท