วิเคราะห์การเมืองปี56 มุมมองรบ.-ฝ่ายค้าน-กองทัพ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง วิเคราะห์การเมืองปี56 มุมมองรบ.-ฝ่ายค้าน-กองทัพ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้ความเห็นถึงทิศทางการเมืองในปี 2556
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในส่วนของปัญหาทางการเมืองเกิดมาจากความขัดแย้งที่เรียกว่าอยู่คนละข้างกันนาน การที่จะให้คนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน มาตรงกันภายในวันเดียว เป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เวลาในการที่จะค่อยๆ ปรับจูนกัน นั่นคือการเห็นอกเห็นใจกัน การพูดคุยกัน กระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 คือ สิ่งที่เราอยากให้คนไทยทุกคนได้ยึดถือ และน้อมใส่เกล้าใส่กระหม่อมในการที่จะยึดตรงนี้เป็นหลัก การที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน หลักในการเข้าใจกัน เรื่องปัญหาการเมืองรัฐบาลอยากให้ระดมความคิด การมีส่วนร่วม ให้มากที่สุดอย่างวันนี้ปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ ที่หลายคนอาจพูดถึง เราจึงคิดว่าน่าจะมาทำความเข้าใจในตัวเนื้อหาให้ชัดเจนก่อน ถ้าตัวเนื้อหาชัดเจนทุกคนมีความสบายใจ เราจะค่อยๆ ก้าวเดินไปด้วยความมั่นคง แล้วความขัดแย้งจะลดลง
ส่วนการเมืองในปี 2556 ไม่มีใครที่จะทำนายล่วงหน้าได้ แต่จะทำวันนี้ให้ดีที่สุด ต้องทำบนความเชื่อมั่น ในทิศทางที่เป็นทางบวก บนความเชื่อมั่นของประเทศที่เราจะต้องร่วมกันหาทางออก เพราะการเดินทางในแต่ละประเทศ จะเห็นเลยว่าระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ทุกคนให้การยอมรับ และเป็นระบบที่สร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนอย่างแท้จริง นั่นคือสิทธิเสรีภาพ ความเป็นเจ้าของต่างๆ นั้นจะกลับคืนสู่มือประชาชน จึงอยากเห็นตรงนี้อย่างเต็มที่ แต่เราเคารพกลไกในการที่จะตรวจสอบการทำงานต่างๆ ที่มีอยู่
เรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรัฐบาลมีหน้าที่ทำงานเพื่อประชาชนทุกคนและคนไทยทั้งประเทศ ต้องดูในเรื่องของเสียงส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา เมื่อคณะทำงานศึกษาวิธีการและแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ สามารถเสนอเรื่องขึ้นมาต่อ ครม.ได้ทันที เจตนารมณ์ของเราก็คืออยากเห็นความสงบและการรักษาบรรยากาศ มีการถามว่าทำไมรัฐบาลไม่กำหนดกรอบเวลา ต้องเรียนว่าหลายครั้งที่กำหนดไว้แล้วเดินต่อไม่ได้จึงพยายามให้เดินไปพร้อมๆ กัน มีความเป็นส่วนร่วมมากที่สุด
ในปี 2556 จะถือว่าเป็นปีของการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเพื่อจะรองรับโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้น อยากให้เป็นปีของการคิดบวก เชื่อมั่นว่าถ้าร่วมกันคิดบวก ใช้หลักที่เรามองด้วยความบวก มีความรัก มีความเมตตากัน มีความเอื้ออาทรกัน เชื่อว่าจะมารับฟังความคิดเห็นต่างๆ บนเวทีที่สร้างสรรค์ แน่นอนถ้าทุกคนมีความคิดบวกและฟังซึ่งกันและกันบนวิถีประชาธิปไตย เชื่อว่าประเทศจะมีทางออก และมีบรรยากาศที่ดีร่วมกัน ถ้าเราใช้พลังตรงนี้มาเป็นพลังของการคิดบวกเพื่อให้ประเทศมีทางออก สุดท้ายจะมีความเชื่อมั่นและเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงต่อไป
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต
วันนี้รัฐบาลเลี้ยวซ้าย อีกฝ่ายเลี้ยวขวาชัดเจนแทบทุกเรื่อง มีประชาชนอยู่ตรงกลาง ดังนั้นต้องดูเอาเองว่าอะไรที่เขาคิดถูกต้องไหม ใครที่คิดถูกต้องอย่างไรต้องดู และต้องรู้จักเปลี่ยนใจตัวเองด้วย อะไรที่ดีไม่ดีอย่างไร คงพูดไม่ได้หรอกว่ารัฐบาลคิดถูกหมด ทั้งหมดมีดีไม่ดีปะปนกัน ใครดีหรือไม่ดีกว่ากันต้องดูเอาเอง รัฐบาลเราทำทุกอย่างตามครรลองของกฎหมายและกติกาแน่นอน เพราะเป็นรัฐบาลไม่มีเรื่องใต้ดิน เรื่องใต้โต๊ะ ดังนั้นการทำตามกฎหมายอาจดูยากและช้า เพราะทำในที่โล่ง ต้องค่อยๆ แก้ไป ส่วนคนอื่นไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม เมื่อการเมืองมั่นคงทุกอย่างดีเอง วันนี้เมืองไทยโชคดีที่สุดในอาเซียนอุณหภูมิเหมาะสมหมด เสียอย่างเดียวเรื่องการเมืองที่มีปัญหา
สำหรับ กองทัพ การทำงานในปีที่ผ่านมาของกองทัพให้น้ำหนักเรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้ดีใจเราได้เห็นการแก้ไขปัญหาภาคใต้หลายปีที่ผ่านมาทำมาได้ถูกทาง และกองทัพปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วให้เข้ากับสถานการณ์ได้ เชื่อว่าสถานการณ์ภาคใต้คงอยู่อีกไม่นานต้องจบไป วันนี้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยไม่ใช้กฎหมายความมั่นคงที่รุนแรง เพียงแต่ใช้กฎหมายความมั่นคงที่เพิ่มขึ้นมาจากปกตินิดหน่อย ประชาชนยังใช้ชีวิตเป็นปกติ โดยเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน มั่นใจว่าเราคุ้มครองครูหรือเป้าหมายที่อ่อนแอทั้งหลาย แต่ที่เสียชีวิตคือผู้ที่อยู่นอกการคุ้มครองของเรา
เราวิเคราะห์ว่าในเวลานี้ผู้ที่ก่อเหตุในภาคใต้ไม่ประกาศตัวว่าเป็นใคร ไม่บอกเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอย่างไร นี่คือความแตกต่างจากที่อื่น ทำให้เรื่องภายในของประเทศไทย โดยผู้ก่อความไม่สงบต้องการยกระดับความรุนแรงให้ออกสู่สังคมนานาชาติ ทั้งนี้ เราพยายามจำกัดวงไว้โดยขอบเขตของปัญหาเกิดขึ้นเพียง 15% ของพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น ทหารมีหน้าที่ดับไฟใต้ให้ได้ก่อนต่อจากนั้นหน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปแก้ไขปัญหาต้นตอ ทหารจะเข้มแข็งองค์กรเดียวไม่ได้ องค์กรอื่นต้องเข้มแข็งควบคู่ไปด้วยทั้ง ตำรวจ อาสาสมัคร
เรามั่นใจว่าอีกไม่นานนี้กำลังที่อยู่ในภาคใต้ คือ กองทัพภาคที่ 4 ตำรวจ อาสาสมัคร จะดูแลภาคใต้ได้ด้วยตนเองไม่ต้องมีกำลังจากส่วนอื่นลงไปในพื้นที่
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
สถานการณ์การเมืองในปี 2556 ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาล จะสร้างเงื่อนไขอะไรให้เกิดผลตามมาหรือไม่ ที่ผ่านมารัฐบาลมีพฤติกรรม 5 เหตุแห่งความเสื่อม เช่น ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงล้วงลูก ลักลอบ เข้ามากำกับการบริหาราชการแผ่นดินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือพฤติกรรมการขาดภาวะผู้นำตามระบอบประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี ในการทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร หากนายกฯไม่ทบทวน ปรับปรุงตัว จะเป็นการเพิ่มตัวเลขติดลบให้กับนายกฯและรัฐบาล จะเป็นพลังลบสะสมไปเรื่อยๆ
ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นได้ชัดว่า มีผลประโยชน์ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง หากรัฐบาลทำอะไรที่นำไปสู่วิกฤตของบ้านเมือง ในที่สุดจะหลีกหนีไม่พ้นวิกฤต เช่น เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ จะยิ่งชัดเจนว่าเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ปัญหา หรือการดึงดันเดินหน้ากฎหมายปรองดอง จะเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และพรรคแกนนำรัฐบาล ส่วนจะทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดหรือไม่นั้น คงตอบล่วงหน้าไม่ได้ หากย้อนไปดูปรากฏการณ์ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า มีดัชนีที่อาจจะนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และความพยายามแก้กฎหมายล้างผิด แต่ดูเหมือนรัฐบาลยังไม่ฟังสิ่งเหล่านี้ ยังเดินหน้าทำประชามติเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีเดิมพันสูง แต่รัฐบาลคงไม่คิดว่าเรื่องนี้จะทำให้ถึงทางตัน ถึงได้เดินหน้าต่อ
อยากให้รัฐบาลคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมบ้าง อย่าเอาประชาชนมาเป็นเหยื่อ เพื่อประโยชน์ของคนไม่กี่คน รัฐบาลต้องไม่ใจดำ โดยเฉพาะนายกฯต้องตระหนัก คิดถึงประโยชน์ประเทศให้มากๆ ที่สำคัญคนที่คิดทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องจะอยู่ไม่ได้ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลเอง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรนั้น ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลว่า ในที่สุดจะทำประชามติในรูปแบบใด และจะตั้งคำถามอะไร และทำเมื่อไหร่ ฝ่ายค้านจึงจะสามารถกำหนดท่าทีและรูปแบบในการตัดสินใจ และให้ข้อมูลกับประชาชนได้ หากประชามติไม่ผ่าน และรัฐบาลกลับมาแก้รายมาตรา จะต้องมีการลงมติคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในรัฐสภาหรือไม่นั้น อาจเป็นข้อถกเถียงกันต่อไปในอนาคตจึงต้องอาศัยผู้รู้ด้านกฎหมายที่จะเป็นผู้ให้ความเห็น
สำหรับกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เร่งเดินหน้าตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ จะกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้านหรือไม่นั้น เชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่รับทราบว่า การดำเนินคดีกับผู้นำฝ่ายค้านมีที่มาที่ไปเป็นอย่างไร สมัยประชุมที่ผ่านมาเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราฟันฝ่าและจะยืนหยัดเดินหน้าทำหน้าที่ของเราต่อไป