ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ส.ส.ร.ก็ไม่ยกร่างอยู่แล้ว : สัมภาษณ์พิเศษ โดยชนิกานต์ พุ่มหิรัญ, โอฬาร เลิศรัตนดำรงกุล, สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์
ภายหลังรัฐบาลตัดสินใจจะทำประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในสภา "วราเทพ รัตนากร" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีการทำประชามติให้สัมภาษณ์ "สำนักข่าวเนชั่น" ถึงเหตุผลการตัดสินใจของรัฐบาล รวมถึงจุดยืนของรัฐบาลในการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ที่เขาย้ำว่า "ไม่ได้ทำเพื่อคนเพียงคนเดียว" การที่รัฐบาลไม่เดินหน้าลงมติวาระ 3 แต่กลับมาทำประชามติถามประชาชนก่อน เปลี่ยนท่าทีจากก่อนหน้านี้ แสดงว่ารัฐบาลมองว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ลดความขัดแย้งและทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ใช่หรือไม่?
การตัดสินใจทำประชามตินั้น ไม่ใช่เพิ่งจะมาตัดสินใจ เพราะถ้าดูจากท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาทางออกของเรื่องนี้ตลอด 3-4 เดือน คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี ได้ดูเสียงสะท้อนและพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว จึงเห็นพ้องต้องกันว่า ทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต้องเปิดโอกาสในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งการทำประชามติจะเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิต้องการให้มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ยกร่างหรือไม่ ผมเชื่อว่า การทำประชามติคือทฤษฎีที่ตรงกับหลักประชาธิปไตย เราเคารพและรับฟังเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็เปิดโอกาสให้เสียงส่วนหนึ่งแสดงความคิดเห็นด้วย
หากมองในมุมการเมืองคงห้ามไม่ได้ที่จะมองว่าเพื่อประคองสถานการณ์และลดความขัดแย้ง แต่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาลคือ ต้องการให้ประเทศมีความมั่นคงและเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ปรารภถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ที่เน้นให้มีความสามัคคีปรองดอง ซึ่งรัฐบาลเรายึดหลักตรงนั้นมากกว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจทำประชามติก่อนยกร่างนั้น ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วยหรือไม่?
ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ซึ่งคณะทำงานทั้ง 11 คน ได้นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาทุกตัวอักษรทุกบรรทัดเลย เพื่อมาดูว่า ในแต่ละประเด็นศาลรัฐธรรมนูญว่าอย่างไรบ้าง พร้อมเก็บบันทึกไว้ เพราะการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีที่มีผู้ไปยื่นร้องตามช่องทางมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ร้องยื่นให้ศาลตีความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ศาลได้วินิจฉัยว่า ไม่ได้เป็นการล้มล้าง แต่ระหว่างที่ศาลพิจารณานั้น ศาลไปมีความเห็นคล้ายกับการคุ้มครองชั่วคราว โดยให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน ส่วนเรื่องการทำประชามติไม่ได้อยู่ในคำวินิจฉัยของศาล แต่เหมือนเป็นข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรจะไปถามประชาชนก่อน จึงเป็นที่มาของการทำประชามติรัฐบาลมั่นใจมากน้อยแค่ไหนว่าการทำประชามติจะผ่านและสามารถแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ เพราะที่ผ่านมาจะมีการคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยตลอด?
เรามั่นใจว่า ผลของการทำประชามติจะต้องผ่านความเห็นชอบและสามารถเดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ได้ กระบวนการหลังจากนั้นก็เป็นหน้าของ ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) ที่จะดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เป็นเรื่องของรัฐบาล หรือรัฐสภา แล้ว ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า ส.ส.ร.จะไปยกร่างที่ไปแตะกับหมวดพระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น ยืนยันว่า แก้ไขไม่ได้ เพราะเราเขียนไว้ชัดเจนในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ห้ามแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
ดังนั้นการยกร่าง ส.ส.ร.ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญฉบับเก่าว่า เรื่องใดที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ขัดต่อหลักนิติรัฐ นิติธรรม เขาก็แก้ แต่ถ้าเรื่องใดดีแล้วก็คงอยู่ไว้ก็เท่านั้น ดังนั้นเมื่อแก้เสร็จก็มาให้ประชาชนลงมติอีกครั้ง ดังนั้นกระบวนการที่รัฐบาลจะเข้าไปข้องเกี่ยวก็คือ เรื่องการทำประชามติก่อนลงมติวาระที่ 3 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในวันนี้สิ่งที่รัฐบาลเลือกคือ ทำอย่างไรให้ได้ข้อสรุป ได้ข้อยุติของเรื่องนี้ ก็คือการแสดงออกโดยการทำประชามติ ที่จริงแล้วรัฐบาลไม่กลัวกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยแต่มีเหตุผล แต่จะมีอีกกลุ่มที่อย่างไรก็ไม่เอา ค้านตลอด เราต้องการให้สังคมเห็นว่า การค้านอย่างไม่มีเหตุผล ไม่มีหลักอธิบาย จะเป็นการถ่วงการแก้ไขปัญหาของประเทศ