วันนี้ ( 14 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการไปพบกับพนักงานสอบสวนเพื่อรับฟังข้อกล่าวหาที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าตน และนายสุเทพได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และทางดีเอสไอนัดให้ไปฟังว่าจะมีคำสั่งอย่างไรในวันที่ 29 เม.ย.ปี 56 นอกจากนี้ยังมีอีก 2 คดี มีการแจ้งข้อหาเรื่องที่ตนบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์ เดือนละ 20,000 บาท 21 เดือน โดยระบุว่า ตนไม่ได้ทำเป็นเช็คขีดคร่อม ผิดกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งตนก็เพิ่งทราบว่าเรื่องแบบนี้ต้องเป็นคดีพิเศษ ส่วนอีกคดีหนึ่งเป็นคดีเงินบริจาคน้ำท่วมผ่านพรรคประชาธิปัตย์
“ผมขอยืนยันว่า คุณเอาผมไปประหารชีวิต พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังอยู่ ยังต่อสู้ตามอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ยังมีอีกเป็นหมื่นเป็นแสน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ตายหรอกครับ แต่ทั้งสองคดีที่เกี่ยวกับพรรค ยืนยันได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ คณะกรรมการบริหารพรรค ไม่ได้ทำอะไรผิด ที่จะมีผลในเรื่องของการยุบพรรคเลย แต่เขาพยายามโยนทุกอย่างใส่มา แล้วถึงเวลาหากผมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาล ในชั้นองค์กรอิสระได้ว่าบริสุทธิ์ เขาก็จะไปใช้วาทกรรมเดิม 2 มาตรฐาน ประชาธิปัตย์ทำอะไรก็ไม่ผิด อะไรทำนองนี้ อันนี้คือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองของเขา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำผิดพ.ร.บ.พรรคการเมือง กรณีบริจาคเงินเข้าพรรคประชาธิปัตย์เกิน 20,000 บาท โดยจ่ายเป็นเงินสด ซึ่งตามกฎหมายให้ทำเป็นเช็คขีดคร่อม ว่า กรณีนี้สามารถทำได้ ถึงแม้จะจ่ายเป็นเงินสดหรือการหักเงินจากบัญชีส.ส.ของพรรคนั้น ก็สามารถทำได้ เพราะการถอนเงินสดหรือหักบัญชีเงินเดือนส.ส. ก็ต้องไปผ่านวิธีการทางธนาคาร เพื่อถอนเงินออกมา ซึ่งตรงนี้ก็จะมีหลักฐานในการถอนเงิน หรือหลักฐานทางธนาคารให้เห็นอยู่แล้ว เพื่อแจ้งมายังกกต. ให้รับทราบ พร้อมทั้งเผยแพร่รายชื่อว่าใครบริจาคเงินให้พรรคบ้างในแต่ละเดือน ซึ่งกรณีนี้กกต. ก็สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ตามกฎหมายพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 57 ที่ระบุว่า หากบริจาคเงินเข้าพรรคเกิน 20,000 ต้องทำเป็นเช็คขีดคร่อมนั้น เพราะกฎหมายอยากให้มีหลักฐานแสดงการได้มาของเงินให้ชัดเจนเพื่อตรวจสอบได้ก็เท่านั้น
“กรณีนี้เป็นลักษณะการบริจาคเงินภายในพรรค ซึ่งเป็นวิธีของแต่ละพรรคที่จะดำเนินการ โดยสมาชิกพรรคหรือส.ส. จะบริจาคโดยหักจากบัญชี ซึ่งถือเป็นเงินบำรุงพรรค สามารถทำได้ ในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ถือเป็นพรรคเก่าแก่ และดำเนินการมาแบบนี้ตลอด ถือเป็นพรรคเดียวที่มีวิธีการเช่นนี้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะแต่ละคนที่บริจาคเต็มใจที่จะช่วยเหลือพรรค และการบริจาคในส.ส.ภายในพรรคไม่ค่อยมีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ไม่ได้ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง”นางสดศรี กล่าว..