'แก้รัฐธรรมนูญ'จุดเสี่ยงรัฐบาล' : ขยายปมร้อน โดยอรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
แม้เราจะเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์ล่อแหลมทางการเมืองอย่างการชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยาม แต่หากมองไปข้างหน้าแล้วจะเห็นได้ว่ายังคงมีความสุ่มเสี่ยงต่อความขัดแย้งในหลายๆ เรื่อง แต่ที่ล่อแหลมต่อความขัดแย้งมากที่สุดคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่นำโดย "โภคิน พลกุล" ก็ประกาศกร้าวว่าในสมัยประชุมที่จะถึงนี้จะเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามที่ค้างไว้เป็นเวลานานแล้ว นอกจากนี้ยังจะเดินหน้ารณรงค์กับประชาชนทั่วไป ซึ่งบางครั้งต้องระวังให้ดีเพราะรณรงค์กับปลุกระดมมวลชนนั้น หากจัดการไม่ดีก็จะไม่ต่างกัน
เรียกง่ายๆ ว่าอย่างไรก็จะเดินหน้าแก้โดยการตั้ง ส.ส.ร. และไม่สนคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ซ่อนมาในคำวินิจฉัยครั้งที่ผ่านมา ทำให้แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลเดินหน้าจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศแต่หัววันว่าจะยื่นร้องเอง ซึ่งก็ไม่แปลกหากศาลรัฐธรรมนูญจะรับเรื่องเอาไว้พิจารณาเพราะก่อนหน้านั้นได้เคยตีความขยายอำนาจของตัวเองออกมาแล้ว และหากรับไว้จริง การตีความออกหน้าไหนก็เป็นไปได้ไม่ยาก
ยิ่งหากไปดูคำแนะนำของ "10 อรหันต์" ที่ปรึกษาของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งประกอบไปด้วยปรมาจารย์ทางกฎหมาย อาทิ "วิษณุ เครืองาม" "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" "นรนิติ เศรษฐบุตร" ฯลฯ จะเห็นได้ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีปัญหาอยู่ไม่น้อย
ประการแรกคือเรื่อง กรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่าให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจจะขัดต่อ มาตรา 195 วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติว่า "กรณีบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินให้รัฐมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้"
ประการที่สอง ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบรัฐเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ตามที่ มาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 บัญญัติไว้เป็นข้อห้าม ซึ่ง 10 อรหันต์เห็นว่าควรเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
และประเด็นที่สาม กรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุว่า หากประชาชนลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญแล้วและมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หากพระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งไม่ส่งกลับมา ให้รัฐสภาลงมติยืนยันโดยให้นำมาตรา 150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 มาบังคับใช้โดยอนุโลม "10 อรหันต์" เห็นว่า การให้รัฐสภาลงมติยืนยันนั้น ขัดกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งยังเป็นการมิบังควรอย่างยิ่งทางการเมือง จึงควรมีการเสนอให้มีการบัญญัติว่า หากประชาชนเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ เหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต
ยิ่งประกอบกับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือไม่หากจะแก้ทั้งฉบับก็ควรถามประชามติประชาชนเสียก่อน ก็ทำให้ยิ่งน่าหนักใจว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความตามนี้จริงก็จะทำให้ร่างแก้ไขตกไป เมื่อนั้นคำอธิบายเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาพร้อมเดินหน้าแก้ไข และแน่นอนว่าย่อมมีมวลชนของตัวเองหนุนหลัง ขณะที่อีกฟากฝั่งก็จะต้องเดินหน้าคัดค้านสุดชีวิต ด้วยสมมุติฐานที่ว่าการแก้ไขครั้งนี้ "ทำเพื่อคนเพียงคนเดียว" และถือเป็นเงื่อนไขอันเหมาะสมที่กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจะลุกขึ้นมาแสดงพลังต่อต้านอีกครั้ง
และมีความเป็นไปได้สูงว่ากลุ่มขั้วอำนาจที่เห็นต่างจากรัฐบาล หรือต้องการโค่นล้มรัฐบาลจะหันมาจับมือกันอีกครั้งและจริงจังยิ่งขึ้น หลังจากแตกพ่ายไปอย่างเจ็บปวดเมื่อครั้งม็อบ "พิทักษ์สยาม" มิพักต้องถามว่ามวลชนพร้อมแค่ไหนในการกระโจนเข้าสู่เกมแห่งอำนาจนี้ และเมื่อทุกอย่างพร้อม แกนนำตัวจริง ซึ่งในวันนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใครก็พร้อมที่จะเข้ามารับไม้ต่อจาก "เสธ.อ้าย" แต่มีความเป็นได้สูงว่า มืออาชีพอย่าง "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" จะเข้ามาเป็นหัวแถวเอง
งานนี้จึงไม่แปลกว่าจะมีคนในรัฐบาลเองที่ยังไม่เห็นด้วยกับเกมเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะวันนี้ถือได้ว่ารัฐบาลอยู่ในสภาวะที่เข้มแข็งสุดๆ ใครก็แซะออกจากตำแหน่งยาก หากไม่สร้างเงื่อนไขแห่งความแตกแยกขึ้นด้วยตัวเอง แม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยบางคนก็ติงว่าควรเดินหน้าทำความเข้าใจกับประชาชนเสียก่อน มิใช่การเร่งเดินหน้าแก้ไขอย่างนี้ จะเห็นได้ว่าการเมืองหลังจากเทศกาลแห่งความสุขผ่านพ้นไป ปี่กลองแห่งความขัดแย้งก็จะถูกโหมบรรเลงอีกครั้ง เว้นแต่ว่าจะมีใครที่ปลดล็อกปัจจัยทิ้งด้วยตัวเอง