สมการการสร้างระบบทุนนิยมของยิ่งลักษณ์ : แลกคนละหมัด โดยชินสัคค สุวรรณอัจฉริย chinasak2000@gmail.com
การตอบคำถามการอภิปรายไม่ไว้วางใจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและตลาด โดยเฉพาะในระบบทุนนิยมปัจจุบันซึ่งได้เปลี่ยนแปลงไปจากหลักคำสอนของวิชาเศรษฐศาสตร์ นั่นคือ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ความสำคัญว่ามาตรการกระจายรายได้โดยการจัดเก็บภาษีนั้นไม่สามารถทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบตลาดได้ และมีข้อสงสัยอีกมากว่าสามารถสร้างให้เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมโดยเฉพาะแก่ชาวนา ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ ฉะนั้นรัฐจึงใช้วิธีการแทรกแซงด้านตลาดโดยการรับจำนำข้าว
ซึ่งการรับจำนำข้าวนั้นหากดูวิธีการและแนวคิดการตอบคำถามของทีมงานนายกฯ แต่ละครั้ง เราจะได้คำตอบว่า ตลาดไม่สามารถเกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบได้ในตลาดข้าว และวิธีการแบบนี้ไม่สามารถที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจขึ้นมาได้ในระบบตลาด หมายถึง ความล้มเหลวของตลาด จุดนี้ถือว่าสำคัญมากในความรู้ของวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะกลไกดุลยภาพของราคาในตลาดนั้นหากไม่สามารถตอบคำถามให้แก่ผู้ผลิตได้ ก็เท่ากับว่าไม่ใช่คำตอบในระบบเศรษฐกิจหรือเท่ากับระบบป่วย
ฉะนั้นความไม่ไว้วางใจต่อพ่อค้าผู้ส่งออกที่เชื่อว่าเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดนั้นจึงเปลี่ยนเป็นการจัดการระเบียบใหม่โดยการแทรกแซงของรัฐ เพื่อทำให้เกิดการกระจายรายได้หรือราคาที่คิดว่าไม่เป็นธรรมอย่างยาวนาน ในหลายทศวรรษที่เป็นทางตันของความรู้วิชาเศรษฐศาสตร์มาอยู่ในมือของรัฐ ที่สามารถทำงานได้ดีกว่าในแง่ของการกระจายรายได้โดยตรงถึงมือชาวนานั้น คือการเปลี่ยนแปลงสถาบันในตลาดและอาศัยความน่าเชื่อถือและประเพณีทางการปฏิบัติที่ยาวนานในการให้การคุ้มครองช่วยเหลือเปลี่ยนมาเป็นศูนย์การจัดการดึงดูดสะสมทรัพยากรและการกระจายทรัพยากรใหม่
ทำให้เห็นว่าตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบไม่ใช่วิธีการที่จะแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการประสานกันระหว่างศูนย์ในฐานะที่รัฐเป็นผู้กำกับดูแลเองที่จะสามารถทำให้รายได้ของชาวนาเพิ่มขึ้นมากกว่า อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มโซ่มูลค่าสินค้าได้อีกด้วยวิธีการแบบนี้เชื่อว่าสามารถสร้างระบบทุนนิยมโดยรัฐขึ้นมาได้จากสังคมเศรษฐกิจชาวนาซึ่งต้องพิสูจน์กันต่อไปในเรื่องของรายได้ และการผลิตซ้ำของการปลูกข้าวต่อไป
การสร้างสถาบันใหม่ในระบบตลาดนั้นแน่นอนว่าผู้ได้ประโยชน์ใหม่และผู้เสียประโยชน์เก่าจึงมีแรงคัดค้านเกิดขึ้นซึ่งเป็นช่วงเวลาของการข้ามผ่านของแนวทางปฏิบัติที่ต้องใช้ทั้งฝีมือและทีมงาน อย่างไรก็ตามการสร้างสมการใหม่นี้ดูเหมือนว่าความยุติธรรมในรายได้น่าจะมาจากการเปลี่ยนระเบียบการใหม่โดยผู้ที่น่าเชื่อถือและมีกำลังทรัพย์ดูแล(รัฐ)นั้นน่าจะตอบคำถามด้วยในเรื่องประสิทธิภาพของการจัดการทรัพยากรเพราะเป็นเขาควายในจุดสมดุลของข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหากต้องการแก้ไขในความยุติธรรมแม้จะทำให้เกิดขึ้นแต่ก็ต้องใช้เงินและเวลามหาศาลซึ่งก็ดูเหมือนกับว่าไม่มีความยุติธรรมเนื่องจากกฎและกติกาของผู้เล่นในตลาดนั้นมีข้อบกพร่องซึ่งต้องลดเวลาและทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการจัดการบริหารที่ลดลงด้วย
ซึ่งในส่วนนี้ดูเหมือนกับว่ายังขาดองค์ประกอบของสมการบางตัวอยู่ที่จะเติมเต็มในระบบทุนนิยม สมการของการสร้างระบบทุนนิยมบนพื้นฐานสังคมชาวนานั้นแนวทางปฏิบัติกำลังเดินไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาความยุติธรรม เพราะไม่สามารถเชื่อมั่นในสมการแบบเดิมของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่เรียนกัน แต่สิ่งที่เราเห็นคือในวงวิชาการเศรษฐศาสตร์และพรรคฝ่ายค้านยังไม่เปลี่ยนแนวคิดที่ยังคงเชื่อในกลไกตลาดและตลาดการแข่งขันที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้อะไรดูดีขึ้น เพราะความถูกต้องทุกอย่างมาจากการปฏิบัติที่ต้องปรับสมรรถนะให้ดีขึ้นต่อๆ ไป ผู้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์และผู้มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์แบบนี้คงต้องดิ้นรนเพื่อหาตำแหน่งของตนเองต่อไป