วานนี้ (30 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)
ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) ที่มีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงโครงสร้างการทำงาน และเรื่องการต่ออายุประกาศใช้พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551ในพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ 4 อำเภอในจ.สงขลา ขณะเดียวกันก็ได้พูดคุยในเรื่องแผนงานที่มีอยู่เดิมแล้ว อาทิ พื้นที่ใดที่เคยมีการใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ได้แก่ กฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ถ้าพื้นที่ใดสถานการณ์หนักอยู่ ก็ต้องใช้กฎอัยการศึกคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าสถานการณ์ความรุนแรงเบาลง ก็จะลดจากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นพ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อให้เอื้อประโยชน์ต่อการแสวงหาทางออก ในการใช้มาตรา 21 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ที่เปิดโอกาสให้กลับใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่
เมื่อถามว่ามีพื้นที่ใดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาปรับลดระดับความเข้มข้นของกฎหมายลงอีกหรือไม่
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำหนดประเมินอยู่ เพราะความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ไม่ต้องการใช้กฎหมายพิเศษใดๆ แต่มีปัญหาในขั้นตอนการสืบสวนที่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่กฎหมายปกติให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทำงานน้อยมาก ซึ่งการทำคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงนั้นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม แม้มีข้อมูลในเรื่องการประกาศปรับลดใช้กฎหมายในพื้นที่ต่างๆอยู่ แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ เพราะอาจทำให้มีการก่อเหตุขึ้นอีก ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์ความรุนแรง ถ้าลดลงจนเห็นได้ชัดในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี ก็จะลดระดับการใช้กฎหมายลงได้แต่ถ้ารีบร้อนจนเกินไป อาจเป็นแผนลวงก็เป็นได้ แม้ตอนนี้ถือว่ามีข่าวดีที่ผู้ก่อเหตุความไม่สงบมีจำนวนลดลง แต่ยังใม่ใช่การจะลดอำนาจของเจ้าหน้าที่ในขณะที่เหตุการณ์ความไม่สงบยังไม่ลดลง มิฉะนั้นถ้าเกิดอะไรขึ้นมาแล้วใครจะรับผิดชอบ
ต่อข้อถามถึงการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของครูในพื้นที่ดังกล่าว
ผบ.ทบ. กล่าวว่า ตอนนี้มีมาตรการในเรื่องนี้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายครูต้องมีการปรับเข้าหากัน เพราะครูอยู่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ ไม่ได้อยู่ในที่หนึ่งที่ใดเท่านั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ครูมาพักอยู่รวมกันในจุดเดียวเพื่อให้การคุ้มครองดูแลทำได้สะดวก ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดทำบัญชีบ้านพักหรือที่อยู่อาศัยของครู โดยเราต้องขอร้องว่าวันนี้ครูตกเป็นเป้าหมายที่มีความเสี่ยงสูง ครูจึงต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือพลเรือนที่ดูแลอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้ได้รับทราบชัดเจนว่าครูจะเดินทางไปไหน อย่างไร ทั้งนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่และครูได้ประชุมร่วมกันแล้ว ซึ่งเราได้ปรับเพิ่มเติมตามสิ่งที่เขาต้องการ แต่สิ่งใดที่เขายังไม่เข้าใจ เราก็อธิบายให้เขารู้ว่าควรร่วมมือกันอย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า บางโรงเรียน บางพื้นที่ที่มีเหตุการณ์รุนแรง ครูก็อาจต้องนอนค้างที่โรงเรียน
ซึ่งถ้าใครสมัครใจอยู่เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง ก็ถือว่าลดงานของเจ้าหน้าที่ไปบ้าง ส่วนผู้ที่ต้องเดินทางไป-กลับ ก็ขอให้รวมตัวกันและเดินทางในเวลาที่กำหนด เพราะครูที่เสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่มักไปในเส้นทางที่ไม่ได้กำหนด หรือไม่อยากให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลเพราะกลัวตกเป็นเป้าการโจมตี นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนกันใน 3 ข้อหลัก
คือ 1.การทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และพลเรือน 2.การติดกล้องวงจรปิด(ซีซีทีวี)ที่ยังไม่เรียบร้อยดี และ 3.การดูแลสวัสดิภาพและสิทธิของครู ส่วนเรื่องของเบี้ยเลี้ยงนั้น ตนทราบว่าขณะนี้ครูขอปรับขึ้นมาเท่ากับตำรวจและทหารที่ได้รับเบี้ยเลี้ยงคนละ 200 กว่าบาทต่อวัน และประจำเดือนอีก 3,500 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับคณะรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจตัดสินใจในการพิจารณา ทั้งนี้ ส่วนตัวตนเห็นว่าสิ่งใดที่เป็นผลดีต่อเจ้าหน้าที่ ประชาชน และบุคลากร ก็ควรทำ แต่ต้องหาสิ่งที่จะมารองรับให้ได้ เพราะจะมีเรื่องของงบประมาณและระเบียบต่างๆตามมา มิฉะนั้นจะมีปัญหาให้รัฐบาลต้องแก้ไข
เมื่อถามถึงการทำงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.)
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว และจะมีการเรียกประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อหารือกันอีกครั้งในเรื่องการทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้