“ยะใส” ระบุพรรคการเมืองใช้วิธีการดึงมวลชน

“ยะใส” ระบุพรรคการเมืองใช้วิธีการดึงมวลชน


แฉพรรคการเมืองใช้วิธีการ ดึงมวลชนเป็นพวกออกมาสร้างความเคลื่อนไหวทางการเมืองปลุกระดม

วันนี้( 29 พ.ย.)ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวในการอภิปรายเรื่องทิศทางประเทศไทยในอนาคต ว่า พรรคการเมืองยังมีความจำเป็นที่ต้องมี แต่หลัง ๆ มีการเข้าไปทำมวลชนออกมาเคลื่อนไหวสร้างกิจกรรม  สร้างเหตุการณ์ สร้างกระแส  เพื่อให้พรรคมีเวทีที่ยืน  เดิมเริ่มจากพรรคเพื่อไทย  ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำ  สำหรับตนคิดว่าก็เป็นสิ่งที่ดี  แต่ต้องไม่ข้ามเส้นจนกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ปลุกระดมจนมาทำลายกลไกทางสภาเสียเอง อย่างไรก็ตามตนไม่เชื่อว่าทฤษฎีการแช่แข็งประเทศไทยของ พล.อ.บุญเลิศ  แก้วประสิทธิ์ ประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.)  จะแก้ปัญหาได้

“เราไม่อาจห้ามการเคลื่อนไหวของมวลชนภาคประชาชนไม่ได้  จะมีวาระเรียกร้องที่พิสดารยังไงก็เป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ  แต่จะเกินขอบเขตหรือไม่  เช่น  กรณีการชุมนุมกลุ่ม เสธ.อ้าย ที่มาเร็วไปเร็ว  ก็ทิ้งให้คิดว่าทำไมมีคนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาคิดว่านักการเมืองควรเว้นวรรค 5 ปี  ซึ่งมีคนคิดแบบนี้ไม่น้อย  ซึ่งเราห้ามเขาคิดไม่ได้  แต่ควรย้อนคิดว่าอะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาคิดแบบนี้  ทำไมกลไกที่มีอยู่ตามกฎหมายไม่ตอบโจทย์  ซึ่งเป็นระนาบความคิดเดียวกันกับการรัฐประหารปี 2549 ก็พบว่าคำตอบทุกอย่างไม่ได้อยู่แต่ในรัฐสภาอีกแล้ว  และเมื่อเกิดวิกฤติก็ย่อมมีคนคิดนอกกรอบ  จนตอนนี้ไม่มีใครเชื่อว่าการรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ระบบเดิมไร้ความหวัง  องค์กรอิสระนอกจากถูกแทรกแซงแล้ว  ตัวองค์กรเองกลับกลายเป็นอำนาจใหม่ที่เอาตัวเองออกจากการตรวจสอบ  หรือการเชื่อมโยงกับสังคม  รวมทั้งเรื่องประสิทธิภาพในการทำงานที่ไม่ทัน  กลายเป็นความยุติธรรมที่มาช้าจนกลายเป็นความอยุติธรรม  เราจึงต้องเดินไปสู่การปฏิรูปใหญ่  มีเงื่อนไขเพียงแค่
1. ปฏิรูปก่อน  หรือ 2. นองเลือดก่อน  เท่านั้น  อย่างไรก็ตาม วาระปรองดองยังต้องเดินหน้า  เพียงแต่ยังต้องดั้นด้นมองหาวิธีการใหม่ ๆ แต่ต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหารประเทศจริงใจ  และไม่ยึดติดกับอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่นต้องเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  หรือต้องเอาแกนนำเข้าคุกเท่านั้น  แต่ยังมีมิติอื่น ๆ อีกมาก ถ้ามีการเสนอร่าง พรบ. ปรองดองก็คงมีการเคลื่อนไหวจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย  ถ้ารัฐบาลคิดว่าเอาอยู่ก็จะเอาเข้าสภา  ซึ่งมันอาจจะพลิกการเมืองไทยทั้งกระดานได้เหมือนกัน  จึงยังไม่คิดว่ารัฐบาลจะกล้าเอาเข้าสภาในเวลาที่เพิ่งถูกอภิปรายจากฝ่ายค้าน  จึงไม่น่าจะเป็นสมัยประชุมที่จะมาถึงนี้  รวมทั้งการแก้รัฐธรรมนูญวาระสาม  เพราะเป็นสองเรื่องที่เป็นสายล่อฟ้า  และคิดสร้างเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้มั่นคงก่อน

นายสุริยะใสกล่าวว่าหากถือว่าปีหน้าจะเอาปรองดองเป็นวาระของประเทศนั้น  ขอเสนอว่า 
1.  ผู้มีส่วนได้เสียคือทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่ควรเป็นเจ้าภาพ  แทนที่จะเร่งรัดออก พรบ.ปรองดอง  ควรตั้งหลักใหม่  อาจมีกรรมาธิการปรองดองชุดใหม่มาสร้างเจ้าภาพจากหลากภาคส่วน  แล้วมาขบคิดกันว่าควรจะทำอะไรได้  โดยไม่ต้องรอเดินพร้อมกันทั้งหมด  2. ไม่ควรกำหนดกรอบเวลาในการปรองดอง  เพราะหากไปกำหนดแล้วมันปรองดองไม่ได้  จนกว่าผู้คนในบ้านเมืองจะเห็นว่าเป็นวาระของประเทศ  3. ทำเรื่องที่ทำได้ง่ายก่อน  เช่นปรองดองในหมู่ประชาชนก่อนที่จะปรองดองในหมู่ชนชั้นนำที่ต้องเอาใจกองเชียร์ บางเรื่องก็ไม่ต้องทำอย่างเป็นทางการมาก  แต่ต้องมีเจ้าภาพที่ถาวร.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์