รัฐสภาผ่านกรอบการเจรจากับต่างประเทศ 6 ฉบับ หนุนอนุสัญญายูเอ็นทลายอาชญากรรมข้ามชาติ ป้องกันไทยไม่ให้เป็นฐานอาชญากร
ที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติเสียงข้างมาก เห็นชอบ กรอบและข้อตกลงระหว่างประเทศตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอ 6 ฉบับ ประกอบด้วย กรอบเจรจาการเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี , ความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียนและภาคผนวกแนบท้าย , ร่างความตกลงว่าด้วยเรื่องการจัดตั้งศูนย์ประสานความร่วมมืออนุภูมิภาคเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย–มาเลเซีย–ไทย , ข้อตกลงจัดตั้งศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ , กรอบเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกระหว่างไทย –มาเลเซีย และสุดท้าย อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร
ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่ให้ความสนใจและสนับสนุนอนุสัญญาสหประชาชาติฯเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าจะช่วยให้ไทยลดการเป็นพื้นที่สำหรับก่ออาชญากรรมข้ามชาติได้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาชาติ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะรักษาการแทนรมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า ประเทศไทยตกเป็นเป้าหมายอาชญากรรมข้ามชาติร้ายแรงหลายประเภท เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ เพราะทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้กระทำผิดสามารถเดินทางต่อไปยังสถานที่อื่นได้สะดวก
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การให้สัตยาบันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศ ในการร่วมมือกับประชาคมโลกปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ อนุสัญญาฯฉบับนี้มีขอบเขตใช้บังคับเกี่ยวกับฐานความผิดใน 4 ประเภท ได้แก่ การมีส่วนร่วมในกลุ่มองค์กรอาชญากรรม การฟอกทรัพย์สินที่ได้มาจากกระทำความผิด การกระทำทุจริตคอรัปชั่น และการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม โดยได้ขยายไปยังฐานความผิดที่มีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป เมื่อความผิดนั้นเป็นลักษณะของการข้ามชาติและเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม หลังจากรัฐสภาเห็นชอบแล้ว รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ต่อรัฐสภา และหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ กระทรวงการต่างประเทศจะได้ให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป