ทูตญี่ปุ่นวอนรัฐบาล ปู สางคดีนักข่าวยุ่น

ทูตญี่ปุ่นวอนรัฐบาล ปู สางคดีนักข่าวยุ่น

วันนี้ (1 ต.ค.) เวลา 09.30 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
 
เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่ออำลาในโอกาสที่กำลังจะพ้นหน้าที่ โดยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญต่อประเทศญี่ปุ่น ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาโดยตลอด ทั้งการเดินทางเยือนญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง เมื่อต้นปี 2555 และการต้อนรับเจ้าชายนารุฮิโตะ มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯ ได้ฝากให้รัฐบาลไทยช่วยดูแลคดีการเสียชีวิตของนายฮิโรยูกิ มูราโมโต ช่างภาพชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ส ในช่วงการชุมนุมทางการเมือง และยังกล่าวขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้การช่วยเหลือเยียวยาให้ความรู้สึกที่ดีต่อครอบครัวของนายมูราโมโต และรัฐบาลญี่ปุ่น

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวขอบคุณและชื่นชมการทำงานของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นฯในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
 
ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ไทยประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกทั้งซาบซึ้งที่ภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่นยังให้ความเชื่อใจและขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งไทยและญี่ปุ่นยังมีความใกล้ชิดทั้งในระดับรัฐบาลและระดับประชาชนมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียืนยันในแผนการป้องกันพื้นที่อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในอนาคต เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่บริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานการลงทุนในไทย รวมถึงได้แสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับทางญี่ปุ่นในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และการพัฒนาด้านโทรคมนาคมต่างๆ ตลอดจนโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของประเทศเมียนมาร์อีกด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังยืนยันว่า ทางการไทยให้ความสำคัญกับคดีการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่น ซึ่งในขณะนี้ได้เร่งดำเนินการพิจารณาคดีและค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตต่อไป

อีกด้านหนึ่ง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีดีเอสไอ
 
ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ 91 ศพ จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เปิดเผยว่า วันที่ 2 ต.ค. นี้จะมีการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ดีเอสไอ ตำรวจ และอัยการ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาหารือกันและร่วมกับวางแนวทางการดำเนินการขั้นต่อไป โดยที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ปี 2553 ไปแล้วหลายคน ซึ่งก็ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์พอสมควร


สำหรับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่พนักงานสอบสวนจะเรียกเข้าให้ปากคำลำดับต่อไป พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวว่า
 
เป็นกลุ่มผู้ปฎิบัติงานในวันเกิดเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทหารที่คุมกำลังพลตั้งแต่ระดับ ผบ.พล. และ ผบ.พัน พนักงานสอบสวนต้องการข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกำลังว่ามีจำนวนเท่าใด  ประจำจุดใดบ้าง  เมื่อได้ข้อมูลส่วนนี้แล้วจะทำให้คดีกระชับขึ้น  เพราะจะรู้ว่ากำลังพลประจำการจุดใดบ้าง และจุดที่กำลังพลอยู่มีกลุ่มใดปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้การสอบสวนในขั้นตอนดังกล่าวอาจเชื่อมโยงคดีการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล  หรือ เสธ.แดง ในการหากลุ่มผู้ก่อเหตุได้ง่ายขึ้น


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์