ไฟต์บังคับปรับครม. ยิ่งลักษณ์3 ลดความเสี่ยง-เลี่ยงตกเป็นเป้า

ไฟต์บังคับปรับครม. ยิ่งลักษณ์3 ลดความเสี่ยง-เลี่ยงตกเป็นเป้า


วันนี้เป็นวันที่สำคัญกับผมอีกวันหนึ่งก็คือวันที่ผมตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ด้วยความเต็มอกเต็มใจไม่มีผู้ใดมาให้ความเห็นอะไรกับผม หนังสือลาออกก็ได้ยื่นไปที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ตนจะลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2555 เป็นตนไป ที่ลาออกมีเหตุผลนิดเดียวคือว่าความเห็นข้อกฎหมายในส่วนหนึ่งก็บอกว่าตนทำถูก แต่อีกส่วนก็บอกว่าผมทำหน้าที่ไม่ได้ ก็เพื่อป้องกันปัญหาทั้งหมดในฐานะที่ผมมีเหตุผลที่เป็นส่วนตัวของตนเอง เป็นความจำเป็นของตนเอง ผมเลยมาเรียนสื่อมวลชนทุกคนว่าผมได้ลาออกจาก 2 ตำแหน่ง แต่ยังทำงานในตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออยู่ และยังคงทำงาน
ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยจนถึงวันที่ 1 ต.ค.”

เป็น “ข้อความ” ช่วงหนึ่งที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แถลงไว้ที่วัดสระเกศเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา

แม้จะเป็นความเต็มใจไม่มีการบีบบังคับ แต่หากดูจากความพยายามที่มีออกมาก่อนหน้านี้ทั้งการอ้างความเห็นของกฤษฎีกา คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เรื่อยไปจนถึงการให้กำลังใจจากคนเสื้อแดง แต่สุดท้ายแล้วนายยงยุทธ ก็ทนที่จะเป็น “ความเสี่ยง” ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต่อไปไม่ไหว

เป็น “ความเสี่ยง” อันเกิดจากข้อกฎหมายที่ยังไม่มีการชี้ขาด ที่สำคัญเมื่อไม่มี “ความชัดเจน” แต่หากปล่อยให้ทำหน้าที่และอยู่ร่วมตัดสินใจในคณะรัฐมนตรีต่อไปก็จะยิ่งตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีมากขึ้น เพราะเดิมแทนที่จะ “ตายเดี่ยว” ก็อาจจะกลายเป็น “ตายหมู่” ลามเลยไปจนกระทั่งถึงตัวผู้นำรัฐบาลอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกด้วย

สิ่งที่ต้อง “ติดตาม” หลังจากนี้ คือ การปรับคณะรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ 3” ที่จะ “มาเร็ว” กว่าที่กำหนดไว้และเผลอ ๆ อาจจะ “มามาก” กว่าที่ตั้งใจอีกด้วย

ตาม “ปฏิทิน” การเมืองที่วางไว้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้อง “ผ่าด่าน” อย่างน้อย 2 ด่านทางการเมืองไปให้ได้ซะก่อน

ด่านแรก คือ การแถลงผลงานรัฐบาล 1 ปีต่อรัฐสภา ที่ขณะนี้ถูก “ยืด” ระยะเวลามานานกว่า 1 เดือนแล้วโดยรัฐบาลอ้างว่าอยู่ระหว่างการรวบรวมผลงานซึ่งมีมากมายให้เป็นรูปเล่มเพื่อแจกจ่ายบรรดาสมาชิก

ด่านต่อมา คือ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้วันนี้จะยังไม่ชัดว่าจะเป็นเมื่อไหร่ แต่ที่แน่ ๆ คือ “ศึกซักฟอก” ครั้งนี้จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 29 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นสุดท้ายของการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร

แม้การปรับ ครม. จะเป็น “สุดยอดปรารถนา” ของบรรดา ส.ส. ในพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล ก็ตามแต่ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ยืนยันกับสังคมไทยว่า เป็นผู้มีอำนาจและตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ปิดจุดอ่อน ไม่เปิดโอกาสให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมา

อุ้มรัฐมนตรีคนไหนได้ก็อุ้มไปเต็มที่ กระเตงรัฐมนตรีคนไหนได้ก็กระเตงไปจนหมดแรง

ในมุมของพรรคร่วมรัฐบาล มีข่าวมา “นมนาม” แล้วว่า ตัวจริงพรรคพลังชลอย่าง นายสนธยา คุณปลื้ม จะเข้ามาทำหน้าที่ รมว.วัฒนธรรมแทน นางสุกุมล คุณปลื้ม หรือตัวจริงพรรคชาติพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จะมาเองหรือจะส่งน้องชาย นายเทวัญ ลิปตพัลลภ มาแทน ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาก็มีข่าวว่า จะเปลี่ยนตัว รมว.เกษตรและสหกรณ์ จาก นายธีระ วงศ์สมุทร ไปเป็นคนอื่น

การปรับ ครม. “ยิ่งลักษณ์ 3” สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ยืนคอยกันจนเมื่อยขาจะแย่อยู่แล้ว

แต่ปัญหาน่าจะอยู่ในมุมของพรรคเพื่อไทย ที่มีหลายกลุ่มหลายก้อน ร้อยพ่อพันแม่

นับกับเฉพาะ ส.ส. ที่มีสัญญากับ “คนดูไบ” ว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีนั้นมีไม่ต่ำกว่า 30-40 คน

นับตั้งแต่การปรับ ครม. “ยิ่งลักษณ์ 2” เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 55 ครั้งนั้นมีการปรับเปลี่ยนทั้งหมด 16 ตำแหน่ง เป็นการปรับคนเดิมออก 10 คน สลับกัน 6 คน

“ยิ่งลักษณ์ 2” นี่แหละที่มีกรณีแกนนำคนเสื้อแดงอย่าง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ และรัฐมนตรีที่ถูก “แบล๊กลิสต์” อย่าง นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แต่คราวนี้ “จุดอ่อน” ที่ถูกวิจารณ์อย่างมากคือ “ทีมเศรษฐกิจ”และประสิทธิภาพของบรรดารัฐมนตรีที่ว่ากันตามจริงก็ไม่ได้มีศักยภาพเท่าที่ควรจะเป็น แต่มาทำหน้าที่เพราะ “ทีมเอ” ติดโทษการเมือง 5 ปี

อย่างนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่มีคดี “โกหกสีขาว” นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ที่ถูกวิจารณ์ถึงการแก้ปัญหาสินค้าว่า “มือไม่ถึง” นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการที่ทำงานไม่เป็นที่ประทับใจของบรรดา ส.ส. ในพรรค

อย่าลืมว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังขาด “มือกฎหมาย” ยังขาด “คนคัดท้าย” ทางการเมือง จึงไม่แปลกที่ชื่อของคนอย่าง นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา จะเข้ามาทำหน้าที่หรือแม้แต่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งมีภาพลักษณ์และต้นทุนทางการเมืองที่ดี

ล่าสุดในตำแหน่ง รมว.มหาดไทยก็ปรากฏชื่อของ นายภูมิธรรม เวชยชัย ผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทยและอดีตรมช.คมนาคม

จังหวะการลาออกของนายยงยุทธ จึงเป็นทั้งจังหวะที่จะ “ลดความเสี่ยง” และเลี่ยงที่จะตกเป็นเป้าทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ที่สำคัญยังได้โอกาส “สมบัติผลัดกันชม” ซึ่งก็คือการบริหารความพอใจทางการเมือง

ปัญหาที่ผ่านมา “หัวแถว” นั้นพอไปได้ แต่ที่เริ่มจะไปไม่ไหวคือบริวารแวดล้อม

’บริหารงาน“ จะดี ต้องเริ่มที่ ’บริหารคน“ ก่อนมิใช่หรือ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์