“มาร์ค” ย้ำ “ยงยุทธ” ขาดคุณสมบัติ ส.ส. ชี้เหตุลาออก

“มาร์ค” ย้ำ “ยงยุทธ” ขาดคุณสมบัติ ส.ส. ชี้เหตุลาออก


“มาร์ค” ย้ำ “ยงยุทธ” ขาดคุณสมบัติ ส.ส. ชี้เหตุลาออก มท.1 แค่ลดแรงกดดันในรัฐบาล


วันนี้ (30 ก.ย.) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยังไม่ลาออกจากการเป็นส.ส.ว่า พรรคมีความเห็นว่านายยงยุทธขาดคุณสมบัตินี้แล้ว ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ  แต่การลาออกจากรองนายกฯและรัฐมนตรีถือเป็นการลดแรงกดดันเพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในการทำงานของรัฐบาล  แต่ปัญหากรณีคุณสมบัติถ้าพิจารณาโดยข้อกฎหมายก็ต้องขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.ด้วย  ซึ่งในเรื่องของกฎหมายก็มีคนไปยื่นเรื่องไว้แล้ว   


ในส่วนของพรรคจะมีการประชุมในวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. เพื่อหารือถึงกรณีดังกล่าวและฝ่ายกฎหมายเองก็ยกร่างเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว     ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างถึงกรณีนี้เทียบเคียงกับนายสัก กอแสงเรือง อดีต ส.ว.นั้น    ตนจำไม่ได้ว่า กรณีนายสักขาดคุณสมบัติอย่างไร  แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ นายยงยุทธขาดคุณสมบัติอย่างไร  ซึ่งสุดท้ายต้องให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัย   เพราะผลจากการชี้มูลของป.ป.ช.ต้องเดินหน้าต่อ ที่มีทั้งส่วนของการเมืองและคดีอาญา สังคมควรต้องจับตาดูเพราะเรื่องทางอาญาก็ต้องไปจบที่ศาลเช่นเดียวกัน แต่จุดเริ่มต้นอยู่ที่อัยการ ซึ่งต้องทำง่านร่วมกับ ป.ป.ช. โดยยึดสำนวนของป.ป.ช.เป็นหลัก


“ ผมไม่อยากให้เป็นแบบนี้และเรียกร้องมาโดยตลอด กรณีของรัฐบาลนี้ค่อนข้างชัด  ไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน   ป.ป.ช. หรือแม้กระทั่งมีเรื่องเกี่ยวพันไปถึงศาล ก็พยายามสร้างกระแสกดดัน หรือหาช่องทาง ที่ไม่ยอมรับการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการตรวจสอบ   ถ้ารัฐบาลต้องการให้สังคมต่อสู้กับการทุจริตคอรัปชั่น  การใช้อำนาจโดยมิชอบอย่างจริงจังต้องเปลี่ยนทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตรวจสอบ  ไม่ใช่เฉพาะกับแค่องค์กรอิสระเท่านั้น  แต่รวมไปถึงการทำงานของฝ่ายค้าน  นักวิชาการและสื่อมวลชน”  นายอภิสิทธิ์ กล่าว


ต่อข้อถามว่าการลาออกของนายยงยุทธ ทางพรรคเพื่อไทยพยายามใช้คำว่าเสียสละแทนการยอมรับว่าขาดคุณสมบัติเพราะถูก ป.ป.ช.ชี้มูล ว่ามีความผิด จะส่งผลอะไรต่อค่านิยมทางสังคมหรือไม่   นาย อภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในที่สุด ถ้าศาลตีความมา ก็จะเป็นบรรทัดฐานจะได้ทราบชัดเจนว่า การชี้มูลที่มีปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายล้างมลทินจะต้องวินิจฉัยอย่างไร   


ซึ่งตนถือว่าเมื่อนายยงยุทธลาออก ก็ไม่อยากลงรายละเอียดกว่า ลาออกเพราะแสดงความรับผิดชอบหรือจำนนต่อข้อกฎหมาย   แต่จะเปรียบเทียบว่า ถ้าเป็นรัฐบาลที่ตนเป็นนายกฯ กรณีในลักษณะนี้ต้องลาออกตั้งแต่ ป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว  คงไม่ต้องรอถึง อกพ.  แต่เมื่อนายยงยุทธออกแล้ว ก็เท่ากับฝ่ายบริหารปลดปัญหานี้ออกไป  จากนั้นก็ต้องดูว่านายกฯจะปรับครม.อย่างไร หรือไม่     ซึ่งตนยืนยันว่า รัฐบาลต้องปรับทัศนคติในเรื่องขององค์กรตรวจสอบ และต้องพยายามสร้างบรรทัดฐานทางการเมือง ด้านจริยธรรมมากกว่าที่บริหารงานมา 1 ปีเศษ.


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์