ยงยุทธปัดลาออกลั่นขอทำงานต่อ

วันที่ 25 ก.ย. ที่กองบินตำรวจ บางเขน นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า
 
การเดินทางไปตรวจราชการที่จ.ปราจีนบุรีในวันนี้ ไม่ได้ไปเพื่อหนีประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เป็นงานด่วนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมาย เวลา 22.00 -23.00 น. เมื่อคืนที่ผ่านมา (24 ก.ย.) จึงได้วางแผนการเดินทางไปตรวจราชการร่วมกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ก็คงจะบินไปเอง แต่ในเมื่อรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีอยู่ ก็จึงต้องเดินทางไปแทน ขณะเดียวกัน นายเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีเอง ก็สามารถเป็นประธานที่ประชุมแทนได้ จึงได้มอบหมายนายเฉลิมให้ทำหน้าที่แทน อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบรายละเอียดว่ามีการผ่านเรื่องเข้าที่ประชุมครม.แค่ 4 วาระ


ส่วนที่ยังไม่มีการเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) เข้าสู่ที่ประชุมครม.นั้น

นายยงยุทธกล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รมช.มหาดไทย ดำเนินการแทนแล้ว อย่างไรก็ตาม นายชูชาติอาจยังไม่เสนอเข้า เนื่องจากเป็นเพราะรมว.มหาดไทย ไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย


ยงยุทธปัดลาออกลั่นขอทำงานต่อ

ทั้งนี้ การเสนอโยกย้ายผวจ.ที่เกิดขึ้นหลังจากผวจ.เกษียณอายุราชการไปแล้ว ไม่ถือเป็นปัญหา
 
เนื่องจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถรักษาราชการแทนได้ และหลายครั้งที่ผ่านมา ก็เคยมีการแต่งตั้งโยกย้ายผวจ. ที่เลยไปถึงช่วงกลางเดือน หรือปลายเดือนต.ค. อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งผวจ.ทุกตำแหน่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เห็นชอบไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยนั้น นายยงยุทธกล่าวว่า ได้พูดหลายครั้งแล้วว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยแล้วว่า ยังสามารถทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อได้ และยังมีอำนาจสั่งการราชการ หรือลงนามในหนังสือสำคัญทางราชการตามปกติ ขอยืนยันว่าเรื่องนี้ ไม่ได้ท้าทายอะไร และอย่านำเรื่องนี้มาเป็นเรื่องหลัก แต่อยากให้นำเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเรื่องหลักมากกว่า ส่วนการที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะทำได้ และยังไม่ได้คิดไปถึงว่าจะมีการยุบพรรคเพื่อไทยหรือไม่


นายยงยุทธกล่าวอีกว่าการจะลาออกหรือไม่ลาออกนั้น ขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีให้ทำงานต่อหรือไม่ แต่หลังจากเกิดเรื่องขึ้น นายกรัฐมนตรีไม่ได้ออกมากล่าวอะไรเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ทางกฤษฎีกาเองก็ระบุว่าสามารถทำงานได้ต่อไป เนื่องจากมีพ.ร.บ.ล้างมลทินเรียบร้อยแล้ว


“ขอยืนยันคำเดิมว่าได้ทำตามเจตนารมย์ของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เจ้าของที่ดินทุกประการ รวมถึงยังทำตามเจตนารมย์ของมหาเถรสมาคม มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ ขอให้สังเกตอย่างหนึ่งว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง พระสงฆ์และบุคคลในองค์กรเหล่านี้ ได้มอบหมายให้ผมมาคุมสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติทันที หากทำร้ายที่วัดจริง พระคงไม่เอาคนที่ทำร้ายที่วัดมาดูแลสำนักพุทธฯ” นายยงยุทธกล่าว


นายยงยุทธกล่าวถึงพ.ร.บ.ล้างมลทินอีกว่า มีประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่เข้าใจก็คือว่าทำไมต้องย้อนไปสั่งลงโทษวันที่ 30 ก.ย. 2545

ซึ่งเป็นวันที่ครบอายุราชการ 60 ปีพอดี ทั้งนี้ขอชี้แจงว่า เป็นเพราะนายอภิสิทธิ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ลงนามว่า หากจะลงโทษข้าราชการย้อนหลัง ให้ลงโทษไปเมื่อวันที่ครบอายุเกษียณราชการ 60 ปี ซึ่งในกรณีดังกล่าวก็ลงโทษไปแล้วเมื่อปี 45 ไม่ใช่ลงโทษปีนี้ ซึ่งการลงโทษย้อนหลังดังกล่าว ก็ได้ล้างมลทินไปเรียบร้อยแล้ว ประวัติส่วนตัวหลังเกษียณอายุราชการก็ระบุไปแล้วว่าไม่เคยต้องโทษ เพราะได้รับการล้างมลทินแล้ว


หลังจากผู้สื่อข่าวถามนายยงยุทธเพิ่มเติมเกี่ยวกับพ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 ว่าต้องรับโทษก่อนที่จะได้รับการล้างมลทินนั้น

นายยงยุทธได้ขอให้นายปลอดประสพ ซึ่งยืนอยู่ในบริเวณเดียวกัน อธิบายให้ผู้สื่อข่าวฟัง โดยนายปลอดประสพกล่าวว่าพ.ร.บ.นี้ถือว่าเป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงสุด เนื่องจากขึ้นในช่วงเฉลิมพระเกียรติ นาน ๆ ครั้งจะเกิดขึ้นที และผู้ได้รับผลไม่ต้องไปร้องขอจากใคร ไม่ต้องตีความ รวมถึงได้รับสิทธิ์ในทันทีที่ออกพ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยระบุว่าข้าราชการที่มีความผิดช่วงก่อนออกพ.ร.บ.นั้น ถ้าบุคคลนั้นได้รับข้อกล่าวหา และเคลียร์เรื่องดังกล่าวแล้ว พ.ร.บ.ล้างมลทินจะไปซ้ำไม่ได้ เหตุผลก็คือว่าไม่สามารถเอาผิดกับคนที่ไม่ผิดได้


“เรื่องของผมเกิดขึ้นเมื่อตอนอายุ 56 เมื่อครั้ง เป็นอธิบดีกรมป่าไม้ แต่มีการชี้มูลว่าผมผิดตอนอายุ 63 และออกคำสั่งย้อนหลังว่าผมผิดตอนอายุ 60 พอออกคำสั่งไป ก็มีคนท้วงทันทีว่าออกไม่ได้ เพราะถูกเคลียร์มาแล้วจากพ.ร.บ.ล้างมลทิน สุดท้ายก็ต้องยกเลิกคำสั่ง ผมจึงมี 2 ระยะ คือ ระยะแรก พ.ร.บ.ล้างมลทิน ล้างมลทินผม และระยะที่ 2 ก็คือ การยกเลิกคำสั่งที่ไม่ชอบ ซึ่งผู้ที่ยกเลิกก็คือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กรณีท่านยงยุทธอยู่ในระยะแรก หลังจากปปช.ไปหาว่าผิดตอนปี 2545 หลังจากนั้น พ.ร.บ.ล้างมลทินเกิดขึ้นปี 2550 เพราะฉะนั้นช่วงระหว่างปี 2545 – 2550 มีการรับโทษไปแล้ว ซึ่งผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ กฎหมายบ้าบออะไรไปลงโทษย้อนหลัง ปกติกฎหมายจะให้คุณ ไม่ใช่ให้โทษ”นายปลอดประสพกล่าว


ยงยุทธปัดลาออกลั่นขอทำงานต่อ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์