โหมโรงศึกน้ำ เปิดฉากศึกผู้ว่าฯกทม. ศึกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

โหมโรงศึกน้ำ เปิดฉากศึกผู้ว่าฯกทม. ศึกรัฐบาล-ฝ่ายค้าน

วาระของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะสิ้นสุดในต้นปี 2556

หมายถึงการสิ้นวาระของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ขณะที่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งเป้าจะส่ง นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรค กทม. ลงแข่งขัน

ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เอง ย้ำความตั้งใจจะลงป้องกันแชมป์

กลายเป็นสภาพที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ของพรรคประชาธิปัตย์


เหตุที่บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนนายกรณ์ เป็นเรื่องพอจะมองเห็นที่มาที่ไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม.ในปี 2554

รวมถึงการเตรียมการสำหรับปี 2555 ด้วย

หลังจากรัฐบาลประกาศจะซ้อมใหญ่ การระบายน้ำใน กทม.ในต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

พรรคประชาธิปัตย์ออกมาคัดค้านเต็มที่

สุดท้ายการทดสอบเกิดขึ้นในวันที่ 5 ก.ย. แต่ยังไม่ครบถ้วน

ตามกำหนด รัฐบาลจะทดสอบอีกในวันที่ 7 ก.ย.

แต่ต้องสั่งยกเลิกกะทันหันในคืนวันที่ 6 ก.ย. หลังจากฝนถล่มกรุงเทพฯ


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ แถลงว่ารวมแล้วใน กทม.มีปริมาณฝน 60 ล้าน ลบ.เมตร มีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่

เป็นสภาพที่น่าหนักใจสำหรับคนกรุงเทพฯ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสนอแนะว่า อยากให้รัฐบาลและ กทม.ประชุมร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์ว่าจากจุดปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร

"ไม่ควรนำเรื่องน้ำมาเป็นประเด็นการเมือง"

และ "ควรจะเป็นความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา พูดถึงแต่ตัวเนื้องาน อย่าโทษกันไปมา เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้คิดเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม"

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สภาพของกรุงเทพฯหลังฝนตกใหญ่เมื่อวันที่ 6 ก.ย. สะท้อนการทำงานของผู้ว่าฯกทม.และ กทม.

ทำให้เกิดข้อสงสัยในการขุดลอกคูคลอง ในการทำความสะอาดท่อระบายน้ำ

ขณะที่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของ กบอ. ระบุว่า

กทม.มีพื้นที่ในการระบายน้ำที่แคบ ในการระบายน้ำออกทะเล

ในวันที่ฝนตกหนักในกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา ต้องใช้เวลาถึง 4 วัน ในการระบายน้ำให้สถานการณ์คลี่คลายลง

ขณะที่ยังมีน้ำที่อยู่บนทุ่งเจ้าพระยายังมีน้ำที่รอปล่อยผ่าน กทม. เพื่อระบายลงสู่ทะเลอีกจำนวนมาก

นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า ต้องหาวันเวลาที่เหมาะสมในการระบายน้ำเพื่อทดสอบประสิทธิภาพคูคลองให้ได้

เพื่อทดสอบการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯฝั่งตะวันออก โดยให้รอหลังจากที่สถานการณ์น้ำฝนและน้ำป่าในภาคเหนือเริ่มคลี่คลายลง

อย่าเอาน้ำมาเป็นประเด็นการเมือง ก็คือ อย่าเอาน้ำมาเล่นการเมือง

โดยความหมาย คือ อย่าเอาเรื่องของ "น้ำ" มาหาคะแนนเสียง สร้างความได้เปรียบทางการเมืองให้ตนเอง หรือทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง

เพราะเรื่องของน้ำคือ ปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน การนำเอาปัญหาน้ำมาเล่นการเมือง เท่ากับซ้ำเติมทุกข์ร้อนของประชาชน

เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง เป็นการแสวงหาคะแนนนิยมแบบ "สามานย์"

เพราะไม่ต้องเอาน้ำมาเล่นการเมือง ก็สามารถส่งผลกระทบทางการเมืองได้อยู่แล้ว หากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เอาใจใส่ในมาตรการป้องกันหรือแก้ไข

ข้อเสนอไม่เอาน้ำมาเล่นการเมือง เป็นสัญญาณเตือนว่า เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เที่ยวนี้ มีความดุเดือดซับซ้อน รออยู่


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์