พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า
กรณีคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งพ.ต.อ.ดุษฏี อารยวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมว่า เป็นการโปรโมทให้พ.ต.อ.ดุษฏีขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม คุมยาเสพติด ที่ว่างจากนางสุรีย์ประภา ตรัยเวช ที่จะเกษียณอายุราชการ ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรของกระทรวงยุติธรรม คนที่จะเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ ต้องมีความโดดเด่น จากผลงานของป.ป.ท.ที่ผ่านมา
ส่วนตำแหน่งเลขาป.ป.ท.ที่ยังให้ว่างอยู่ ก็เพื่อหาผู้เหมาะสมที่สุดมาดำรงตำแหน่ง ไม่ได้รอให้ใคร แต่ต้องทำตามกระบวนการ
โดยจะให้คณะกรรมการป.ป.ท.คัดเลือก และดำเนินการตามระเบียบก.พ. อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดี 91 ศพ จากเหตุชุมนุมทางการเมืองปี 53 มีความเหมาะสม ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งเงลขาธิการป.ป.ท. แต่คนอื่นก็มีสิทธิเข้าสู่กระบวนการสรรหาได้
ถามว่าการแต่งตั้งพล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติควบตำแหน่งเลขาธิการป.ป.ส.ในลักษณะเดียวกับพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว
จะตอบสังคมอย่างไรเมื่อไม่มีประสบการณ์ด้านยาเสพติดและการทำงานเชิงปราบปราม รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและประกาศให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระภูมิภาค จึงต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถที่จะมาดำเนินงานต่อจากพล.ตอ.อดุลย์ ที่ดำเนินการไว้ดีแล้ว โดยพล.ต.อ.พงศพัศ ก็มีประสบการณ์ทำงานได้ นอกจากนี้ป.ป.ส.ต้องประสานงานกับประเทศอาเซียนมากขึ้น เพื่อให้อาเซียนปลอดยาเสพติดภายในปี 2558
ถามว่าลูกหม้อป.ป.ส.มองว่าคงไม่มีโอกาสเติบโตเพราะ ตำแหน่งเลขาป.ป.ส.กลายเป็นรูปแบบที่ขอตัวรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาควบตำแหน่ง
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ช่วงนี้ยังไม่ใช่จังหวะของคนใน เพราะรัฐบาลต้องการขอเชื่อมการทำงานระหว่างป.ป.ส.กับตำรวจ เพื่อให้การกวาดล้างยาเสพติดทำได้สำเร็จ จึงต้องการคนที่มาจากตำรวจเข้ามาเป็นเลขาป.ป.ส. ซึ่งนอกจากป.ป.ส.แล้ว เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็เป็นตำรวจ และตำแหน่งเลขาฯป.ป.ท.ก็ต้องการคนที่เป็นตำรวจเช่นกัน