ปูสั่งติดกล้องวงจรปิดให้คนกรุงดูทดสอบน้ำ

ปูสั่งติดกล้องวงจรปิดให้คนกรุงดูทดสอบน้ำ

'ยิ่งลักษณ์' สั่งติดกล้องวงจรปิดให้คนกรุงดูทดสอบปล่อยน้ำ ลั่นพร้อมตรวจสอบให้ถึงที่สุดทุจริตงบฯน้ำท่วม 1.2 แสนล้าน

3 ก.ย.55 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อทำความเข้าใจถึงแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ถึงกรณีที่เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ปปท.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลความผิดปกติที่ส่อไปในทางทุจริตในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ความช่วยเหลือน้ำท่วม 1.2 แสนล้านบาท ในเกือบทุกโครงการ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ว่า ทาง ปปท.มีข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งต้องส่งเรื่องไปตามหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบให้ถึงที่สุดเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน

ส่วนกรณีที่มีผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนพบว่าคนกทม. ส่วนใหญ่รู้สึกกังวลกับการทดสอบการระบายน้ำเข้ากทม.ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ตนได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการระบายน้ำ ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ชี้แจงอย่างละเอียดในทุกเส้นทางที่จะมีการทดสอบการระบายน้ำ และจะให้เพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิดหรือโทรมาตรวัดน้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามได้ ทั้งนี้การทดสอบถือว่ามีข้อดีที่ทำให้เราได้ทราบถึงประสิทธิภาพของคูคลองต่าง ๆ ทั้งฝั่งตะวันตก และตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ บางครั้งถ้าใช้หลักการคำนวณทางวิชาการอย่างเดียว อาจทำให้ข้อมูลต่างๆ คลาดเคลื่อนได้ แต่ขอยืนยันกับประชาชนว่าเราจะทำทุกขั้นตอนด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้มีการระบายน้ำเกินกว่าขีดความสามารถของคลองที่รับได้ โดยเราจะคำนวณจากสภาพของคลองจริง เพราะมีบางเสียงวิจารณ์ว่าบางคลองยังขุดลอกไม่เสร็จ ซึ่งหากมีน้ำมากก็พร้อมให้หยุดทันที ขอให้สบายใจได้

“ก็อาจเป็นไปได้ที่ กทม.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ คงมีความเป็นห่วง แต่เราก็จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด หากเป็นห่วงก็ให้มาคุยกัน เพราะในหลักปฏิบัติ การระบายน้ำก็ต้องนั่งอยู่ด้วยกันทั้งเจ้าหน้าที่ของ กบอ. และกทม.เพื่อตัดสินใจร่วมกัน หากตรงไหนเป็นห่วงก็ให้หยุด ที่เราทำการทดสอบเพื่อให้ทราบขีดความสามารถ ติดปัญหาที่จุดไหนจะได้เตรียมแผนการป้องกันไว้ แต่หากไม่ทดสอบเลยถึงเวลาเกิดอุทกภัยจริง เราจะไม่ทราบ และทำให้การดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง” นายกรัฐมนตรี กล่าว เมื่อถามว่าหากมีปัญหาเกิดขึ้น คนที่มีอำนาจตัดสินใจสั่งหยุดคือนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.)หรือผู้ว่าฯกทม. น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จริงๆ คือ กบอ. แต่ก็ต้องทำงานร่วมกับผู้ว่าฯกทม. ไม่อยากให้พูดถึงเรื่องอำนาจ เพราะความจริงเราทำงานเพื่อดูและประชาชนเป็นสำคัญ

เมื่อถามว่าดูเหมือนเรื่องนี้จะกลายเป็นการเมืองไปแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนไม่ขอพูดในจุดนั้น แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มองเป็นเรื่องการเมืองเลย แค่ต้องการทดสอบระบบการระบายน้ำเท่านั้น ซึ่งเป็นขั้นตอนใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน จึงเกิดความกังวลกัน ซึ่งรัฐบาลก็พยายามระมัดระวังอย่างเต็มที่ เมื่อถามว่าภายหลังการการทดลองแล้วมั่นใจหรือไม่ว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมกทม. นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องดูผลการทดลองก่อนเพราะปีที่ผ่านมาที่เรามีปัญหา แม้ว่าเราจะขุดคลองไว้รอ แต่น้ำก็ไม่ระบายออกไป ทำให้ประตูระบายน้ำของกทม.ไม่มีน้ำเลย เราจึงจำเป็นต้องทดสอบ ทั้งนี้มีความมั่นใจขึ้นว่าปีนี้จะปกป้องพื้นที่เศรษฐกิจได้ และจะมีการชี้แจงผลการทดสอบให้ประชาชนทราบต่อไป

'ยิ่งลักษณ์' ยันยังไม่ปรับ 'กิตติรัตน์' พ้นครม.

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนพบว่าส่วนใหญ่เรียกร้องให้ปรับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกจากตำแหน่งหลังจากออกมายอมรับเรื่องโกหกสีขาวตัวเลขส่งออกโดยกล่าวเพียงว่า “ยังไม่ปรับคะ”

'ปู' เตรียมถกผู้นำ 'มาเลย์' หวั่นไฟใต้กระทบความสัมพันธ์

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประธานกลุ่มเบอร์ซาตูประกาศจะปลดปล่อยรัฐปัตตานีให้เป็นอิสระ ว่า ปัญหาความรุนแรงในพื้นที่นั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปสำรวจข้อมูลทั้งหมด ยืนยันว่าต้องมีนโยบาย ทั้งเรื่องการดูแลความปลอดภัย และการพัฒนาควบคู่กันไป แต่ก็ต้องไปลงลึกไปดูในรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติ เพราะบางครั้งเหตุการณ์ความรุนแรงก็เกิดทั้งนอกพื้นที่และในเขตเซฟตี้โซน จึงต้องไปดูทั้งจำนวนบุคลากร และเครื่องมืออุปกรณ์ว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งทาง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งศอ.บต. แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อมาและมาพิจารณาว่ามีส่วนไหนบ้างที่ต้องทำเพิ่มเติม

เมื่อถามว่าเรื่องนี้อาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ จะมีการพูดคุยกับทางรัฐบาลมาเลเซียบ้างหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงที่ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมเอเปคระหว่างวันที่ 7-9 ก.ย. คงจะมีโอกาสได้พบกับผู้นำมาเลเซีย ซึ่งจะได้ใช้โอกาสนี้พูดคุยกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ เพราะเหตุการณ์บางครั้งอาจจะเป็นลักษณะของการทำให้เรามีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับมาเลเซีย แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไทยได้สื่อสารกับทางมาเลเซียตลอด และตนก็ยินดีที่จะให้เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านเข้ามาร่วมทำงานเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ด้วย ไม่มีการแบ่งขั้วการเมืองอย่างแน่นอน

'ยิ่งลักษณ์' ชู 'แอฟริกาใต้' มีบทบาทนำในการพัฒนาปชต.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์thaigov.go.th รายงานว่าวันนี้ (3 ก.ย. 55) เวลา 11.30 น. ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นางสาวไมเต อึนโคอานา-มาซาบาเน่ (Ms. Maite Nkoana-Mashabane) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแอฟริกาใต้ เข้าเยี่ยมพบนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ได้ให้การช่วยเหลือแก่ไทย ในช่วงที่ประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงในปี 2554 ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้จัดทำแผนแม่บทขึ้น สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เเละรู้สึกยินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศมีความก้าวหน้าในทุกด้าน ซึ่งประเทศไทยยืนยันร่วมมือและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งในปี 2556 จะครบรอบ 20 ปีความสัมพันธ์ทางการฑูตระหว่างทั้งสองประเทศ โดยไทยหวังว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศจะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างใกล้ชิดต่อไป และเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองประเทศจะแสวงหากลไกในการส่งเสริมความสัมพันธ์ ในสาขาต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ด้านการค้า การลงทุน ซึ่งแอฟริกาใต้เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในแอฟริกา รวมถึง การท่องเที่ยว และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในระดับประชาชน (people to people)

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและตอบรับคำเชิญของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ในการเดินทางไปเยือนแอฟริกาใต้ในโอกาสแรก ซึ่งจะเป็นการเดินทางเยือนประเทศในแอฟริกาเป็นครั้งแรก พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้เดินทางเยือนประเทศไทย เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมือง พร้อมกับยืนยันที่จะส่งเสริมความสมานฉันท์ในชาติเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าการสร้างความสมานฉันท์นั้น จะต้องอาศัยวิสัยทัศน์ กฎหมาย ธรรมาภิบาล ซึ่งประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีบทบาทนำในการพัฒนาประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศไทยก็มีรูปแบบและแนวทางการพัฒนาประชาธิปไตยที่เป็นเอกลักษณ์ และให้ความสำคัญกับความหลากหลายและความแตกต่าง รวมถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสองประเทศแบ่งปันประสบการณ์และเรียนรู้ซึ่งและกันได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศ

พท.ป้องนายกฯ ไม่ได้ลอยตัวเหนือปัญหา

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลอยตัวเหนือปัญหาในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการมอบหมายให้ 3 รองนายกรัฐมนตรีเข้าไปดูแลนั้นไร้เอกภาพและล้มเหลวว่า เป็นแค่เกมการเมืองมากกว่าการจะเสนอเหตุและผลหรือวิธีในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืนยันว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้ลอยตัวเหนือปัญหาหรือปล่อยให้ 3 รองนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบโดยลำพัง นายอภิสิทธิ์ก็เคยเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 ปี 8 เดือนและเคยเข้าไปแก้ไขปัญหาแต่ก็ล้มเหลวมาแล้ว ทั้งๆ ที่พรรคประชาธิปัตย์เคยหาเสียงเอาไว้ว่า 99 วันจะดับไฟใต้ให้ได้แต่ก็ไม่สามารถทำได้

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังเคยมอบหมายให้นายถาวร เสนเนียม อดีตรมช.มหาดไทย เข้าไปดูแลและแก้ไขปัญหาเพียงคนเดียวแต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้อย่างต่อเนื่องจนมาถึงรัฐบาลชุดนี้ รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ยังเคยอ้างว่าในสมัยที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวเองจะกลายเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาคอยรักษาความปลอดภัยให้อีกด้วย

นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย การที่นายอภิสิทธิ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเปิดเวทีและมารับฟังปัญหาด้วยตนเองนั้น ตนเชื่อว่านายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังและนำข้อมูลของฝ่ายค้านไปปฏิบัติอยู่แล้ว เพราะเรื่องนี้ต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากคงไม่มีคนไทยคนไหนไม่อยากเห็นภาคใต้สงบสุข อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็เคยลงพื้นที่จ.ปัตตานีมาแล้วในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนในพื้นที่

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ดังนั้นวันนี้หากฝ่ายค้านเสนอข้อมูลหรือวิธีแก้ไขปัญหาเชื่อว่านายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังหากเสนอข้อมูลให้กับรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เห็นได้จากล่าสุดที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือเชิญนายอภิสิทธิ์มาร่วมหารือถึงวิธีการแก้ไขปัญหาและขอข้อมูลต่างๆ ด้วย ดังนั้นตนจึงอยากเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์รับคำเชิญของร.ต.อ.เฉลิมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ไม่อยากให้นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การที่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดผ่านสื่อว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลล้มเหลวโดยสิ้นเชิงนั้นถือว่าไม่เหมาะสม แต่ควรจะมาหารือกับรัฐบาลหรือนำเสนอวิธีการแก้ไขให้กับรัฐบาลโดยตรงจะดีกว่า

พท.ชี้แพ้ลต.ซ่อมสก.เหตุชาวบ้านเข้าใจผิดเงินเยียวยาน้ำท่วม

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผลการเลือกตั้งซ่อมส.ก.เขตดอนเมือง เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยพ่ายแพ้ให้กับผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับชัยชนะด้วย ซึ่งเรื่องการแพ้หรือชนะนั้นถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่คงจะไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งส.ส.หรือผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคต เพราะการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องของการที่ประชาชนต้องการให้ผู้สมัครเข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งระดับชาตินั้นประชาชนจะพิจารณาในเรื่องของนโยบายของพรรคเป็นหลัก ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งซ่อมส.ก.ที่ออกมานั้น เป็นไปได้ว่าประชาชนอาจจะยังมีอารมณ์อยู่จากเรื่องการให้เงินช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วม ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณต่างๆ ให้กับกทม.ไปแล้ว และเป็นเรื่องของเขตที่จะนำเงินไปให้กับประชาชน ซึ่งตรงนี้เราอาจจะต้องมีการทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย โดยเฉพาะภาคกทม.นั้นเชื่อว่าจะมีการนำกรณีนี้ไปทบทวนอย่างแน่นอนว่ามีจุดดีและจุดเสียตรงไหน อย่างไรบ้าง

เร่งพัฒนาศูนย์พึ่งได้เป็นหน่วยงานถาวรดูแลคุณภาพชีวิตเด็ก-สตรี

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนากระบวนการยุติธรรมเพื่อความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กจากการถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ จัดโดยสำนักงานอัยการสูงสุด โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด พนักงานอัยการในสำนักงานคดีอาญา สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สำนักงานคดีอาญาธนบุรี สำนักงานคดีศาลแขวง สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนและในสำนักงานอัยการจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมงาน

นายจุลสิงห์ ได้กล่าวรายงานว่า ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการกระทำด้วยความรุนแรงต่อผู้หญิง จึงทรงรับเป็นองค์ทูตสันถวไมตรีให้กับกองทุนสหประชาชาติเพื่อการพัฒนาสตรี หรือยูนิเฟม ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นวีเมน และทรงมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมรณรงค์และเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติความรุนแรง โดยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้พบเห็นการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานทำหน้าที่คุ้มครองช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงและมีอำนาจออกคำสั่งใช้มาตรการและวิธีการบรรเทาทุกข์ที่เหมาะสม และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 52 วรรคสอง กำหนดว่า “เด็ก เยาวชน สตรี และบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงในครอบครัว และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีหลักการใหม่แตกต่างจากหลักการเดิมหลายประการและมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ

นายจุลสิงห์กล่าว่วา ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ไปเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคลากที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ถึงสิทธิ หน้าที่ของตนตามกฎหมายดังกล่าว และสามารถเชื่อมโยง ประสานงานอย่างบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามแนวพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลักในการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติธรรมความรุนแรงต่อผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 2553

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวเปิดงานว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เป็นปัญหาสาธารณะที่เกิดขึ้นในทุกสังคมและทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและภาคสังคมในหลายประเทศ ต่างให้ความสำคัญในการเข้าไปช่วยดูแลและแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่บ่อนทำลายสถาบันครอบครัวหากปล่อยไว้จะกลายเป็นพื้นฐานของความรุนแรงในสังคมต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยได้มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งมุ่งที่การคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ตลอดจนแก้ไข ฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำซ้ำอีก อย่างไรก็ตามหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้มาเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งพบว่า ขาดการบังคับใช้มาตรการตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะได้เกิดทัศนคติที่คนนอกมองว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาภายในครอบครัว และคนอื่นไม่ควรเข้าไปยุ่ง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่ายช่วยกันสะท้อนปัญหาสังคมไทย ช่วยกันทำให้ทัศนคตินี้ได้รับความยุติธรรมได้รับการดูแลสิทธิเด็กและสตรีอย่างเสมอภาค

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นับเป็นพระกรุณาธิคุณที่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีความห่วงใยต่อปัญหานี้ และทรงมอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานหลัก ในการจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงตามแนวพระดำริ รวมถึงส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บุคลากรที่อยู่ในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ได้เข้าใจถึงเจตนารมณ์และมาตรการต่างๆ อย่างลึกซึ้งแท้จริง อีกทั้งในเรื่องของทัศนคติที่ต้องให้ความสำคัญกับการรณรงค์สร้างความรู้แก่สังคม เพื่อให้สาธารณชนคนทั่วไปให้รับทราบถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เริ่มตั้งแต่การเข้าใจเจตนารมณ์และการสร้างทัศนคติใหม่ที่ว่า “ไม่มีใครสมควรได้รับการถูกกระทำรุนแรงทั้งนั้น” โดยเมื่อแนวคิดเปลี่ยน การทำงานและการดำเนินการก็จะเปลี่ยนตามไป

อย่างไรก็ตามต้องการที่จะเห็นสังคมไทยมีความใส่ใจและยุติความรุนแรง ที่เรียกว่า “สังคมไทยปราศจากความรุนแรง” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกคน โดยเริ่มจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนและทุกคนได้รับทราบถึงทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ได้ทำหน้าที่ในบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งการประชาสัมพันธ์โดยตรงต่อสตรีรับทราบถึงสิทธิและสิ่งที่จะได้รับจากการคุ้มครองของภาครัฐ ในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

“รัฐบาลพร้อมที่จะทำงานร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นจุดศูนย์กลางเริ่มต้นทำงานรณรงค์ร่วมกันในการส่งต่อ ซึ่งวันนี้รัฐบาลได้มีกลไกในการดูแลตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข คือ การพัฒนาศักยภาพของศูนย์พึ่งได้ ซึ่งจะพัฒนาให้มีหน่วยถาวรที่จะรับความช่วยเหลือดูแลกับเด็กและผู้หญิง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่จะทำอย่างไรที่จะทำให้คุณภาพชีวิตนั้นดีขึ้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะต่อยอดกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้มีกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีพร้อมที่จะทำงานกับสำนักงานอัยการสูงสุด และพร้อมทำงานกับทุกหน่วยงานที่จะบูรณาการเพื่อให้สิทธิของเด็กและสตรีปราศจากความรุนแรงและได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน อีกทั้ง นโยบายของรัฐบาลต่างๆ จะไม่สำเร็จ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดพร้อมเป็นศูนย์กลางส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและสตรีผู้ถูกกระทำรุนแรง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์