นอกจากนี้หากมีบุคคลใดที่มิใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีได้ทราบพฤติการณ์ใดๆของจำเลยที่เป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลได้กำหนดขึ้น
และเป็นเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไปตลอดจนสังคมโดยส่วนรวมให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายและความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังจากการฝ่าฝืนของจำเลย บุคคลเหล่านั้นย่อมมีอำนาจยกปัญหานั้นขึ้นให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยได้เช่นกัน ในทำนองเดียวกับบุคคลอื่นซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายก็มีอำนาจทำคำกล่าวโทษในคดีอาญาแผ่นดินว่ามีการกระทำความผิดอาญาอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นต่อเจ้าพนักงานตำรวจได้ ก็ปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีอาญาแผ่นดินและเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวที่ศาลได้กำหนดขึ้นให้จำเลยที่ จำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 7 , 8 , 12 - 24 ต้องปฏิบัติตาม ก็เป็นเงื่อนไขที่ศาลกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประชาชนโดยทั่วไป ตลอดจนสังคมโดยส่วนรวมให้ปลอดภัยจากภัยอันตรายและความเสียหายใดๆที่เกิดขึ้นในภายหลังจากการฝ่าฝืนเงื่อนไขของจำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 7 , 8 , 12 - 24 ดังนั้นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีนี้ย่อมมีอำนาจยกปัญหาว่าจำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 7 , 8 , 12 - 24 ได้ปฏิบัติฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลกำหนดขึ้นเพียงใดและมีเหตุให้ศาลเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 7 , 8 , 12 - 24 ขึ้นให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยได้
จากที่วินิจฉัยดังกล่าวมา แม้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและนายนิพิฏฐ์ จะไม่ใช่คู่ความหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจยื่นคำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 และนายนิพิฏฐ์ มีอำนาจยื่นคำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 ได้ ตลอดจนศาลก็มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 7 , 8 , 12 - 24 ได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 , 6 , 8 , 12 - 24 หรือไม่
เห็นว่าจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นนี้กับข้อเท็จจริงตามที่ศาลได้สอบถามจำเลยที่ 1 , 6 , 8 , 12 - 24 แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 , 6 , 8 , 12 - 24 ได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 , 6 , 8 , 12 - 24 กระทำการใดๆอันเป็นการผิดเงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและยังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 , 6 , 8 , 12 - 24 ได้กระทำการใดๆอันถือว่าก่อให้เกิดอันตรายหรือภยันตรายประการอื่น จึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 , 6 , 8 , 12 - 24
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายจตุพร จำเลยที่ 2 หรือไม่
เมื่อพิเคราะห์คำร้องและหนังสือการขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ประกอบคำแถลงของนายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญกับคำแถลงของจำเลยที่ 2 แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยที่เวทีที่หน้ารัฐสภา เห็นว่าคำกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 2 มีลักษณะเสียดสี ประชดประชัน ไม่พอใจและตำหนิการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังปราศรัยด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพหยาบคายซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรกระทำ แต่ก็ไม่มีคำพูดใดของจำเลยที่ 2 ที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม กระทบต่อเกียรติยศและชื่อเสียงของบุคคลอื่นโดยตรง และไม่มีคำพูดใดที่ก่อให้เกิดการคุกคามและการกดดันต่อการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงยังพอถือได้ว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์และติชมการทำงานของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
แม้ถ้อยคำที่จำเลยที่ 2 กล่าวจะรุนแรงไปบ้างแต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายกระทบต่อความสงบเรียบร้อย ที่จะเป็นการผิดเงื่อนไขซึ่งศาลกำหนดไว้ในการปล่อยชั่วคราวและยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดๆอันก่อให้เกิดอันตรายประการอื่นที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 จึงยังไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 2 ให้ยกคำร้องของสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่ามีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก จำเลยที่ 7 หรือไม่
เมื่อพิเคราะห์คำร้องและหนังสือขอให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 ประกอบคำแถลงของนายนิพิฏฐ์ ผู้ร้องและคำแถลงของจำเลยที่ 7 แล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 จำเลยที่ 7 ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยเวทีหน้ารัฐสภาในขณะที่มีแนวร่วม นปช.ร่วมฟังอยู่เป็นจำนวนมาก โดยวิพากษ์วิจารณ์และติชมการปฏิบัติหน้าที่ของตุลการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ในประเด็นดังกล่าวจำเลยที่ 7 ไม่ได้ปฏิเสธว่าบุคคลที่อยู่ในแผ่นวีซีดีตามหลักฐานไม่ใช่ตัวจำเลยที่ 7 และเสียงที่พูดออกมานั้นไม่ใช่เสียงของจำเลยที่ 7 เอง ขณะที่จำเลยที่ 7 แถลงต่อศาลยอมรับว่าได้อ่านข้อมูลส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวขณะกล่าวปราศรัยบนเวทีจริง เพียงแต่จำเลยที่ 7 เห็นว่าเป็นเรื่องที่หน้าสนุกสนานชวนให้ผู้ฟังรู้สึกตลกขบขัน อันเป็นลักษณะนิสัยของจำเลยที่ 7
เมื่อพิจารณาถ้อยคำการกล่าวปราศรัยของจำเลยที่ 7 ในวันดังกล่าวประกอบกับน้ำเสียงและการแสดงสีหน้าท่าทางของจำเลยที่ 7 แล้ว
ส่อให้เห็นถึงเจตนาที่จะยุยง ปลุกปั่น ให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนที่จำเลยที่ 7 จะนำข้อมูลส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวมาเปิดเผยในเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน จำเลยที่ 7 ยังกล่าวถ้อยคำตอนหนึ่งทำนองว่า “ให้แวะเวียนไปเยี่ยม เอาดอกไม้ไปเยี่ยม โทรศัพท์ไปคุยและให้ไปจัดการ” อันเป็นการพูดที่อาจทำให้ผู้ฟังที่กำลังอยู่ในอารมณ์ที่เกลียดชังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจได้ว่าจำเลยที่ 7 ประสงค์จะให้มีการก่อความวุ่นวาย สร้างความเดือดร้อนรำคาญหรือกระทำการอันตรายต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัว และถือได้ว่าเป็นการคุกคามกดดันแก่บุคคลที่ถูกกล่าวอ้าง อีกทั้งเป็นการกดดันการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งการนำข้อมูลส่วนตัวของบุคคลอื่นมาเปิดเผยโดยไม่มีเหตุจำเลยก็ไม่ใช่วิสัยปกติของบุคคลทั่วไป
การกระทำของจำเลยที่ 7 ที่นำข้อมูลส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและครอบครัวมาเปิดเผยเช่นนี้
ยิ่งแสดงออกถึงเจตนาร้ายของจำเลยที่ 7 ที่ต้องการให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และเป็นการไม่นำพาต่อเงื่อนไขที่ศาลมีคำสั่งไว้ แม้ภายหลังจำเลยที่ 7 จะกล่าวขอโทษตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจทำให้การกระทำที่ได้ทำลงไปแล้วกลับคืนมาได้ ถือว่าจำเลยที่ 7 กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้แล้วว่าไม่ให้กระทำการใดอันก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยไม่จำต้องมีเหตุร้ายใดๆเกิดขึ้นหรือต้องให้ผู้ที่ถูกพาดพิงไปแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยที่ 7 เสียก่อน เมื่อพิจารณาประกอบถ้อยคำจำเลยที่ 7 ซึ่งอ้างว่าเมื่อระลึกได้ในภายหลังว่ากระทำไม่เหมาะสมแล้วจึงได้กล่าวขอโทษ กับการที่จำเลยที่ 7 เห็นว่าสิ่งที่ตนพูดไปนั้นเป็นเรื่องของความตลกขบขัน ได้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 7 ไร้ซึ่งความยับยั้งชั่งใจในการใคร่ครวญว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำก่อนที่จะกระทำการใดๆไป ดังนั้นจึงยังไม่แน่ว่าหากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 อีกต่อไปแล้วจะไปก่อเหตุวุ่นวายประการอื่นใดอีก
อีกทั้งคำปราศรัยดังกล่าวยังถือได้ว่าเป็นการกล่าวถ้อยคำไปยังสาธารณชนที่เป็นการละเมิดหรือกระทบสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง
หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลใดโดยตรง นอกจากนี้ยังถือได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นการยั่วยุปลุกปั่น ปลุกระดมเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน การกระทำของจำเลยที่ 7 จึงถือได้ว่าเป็นการผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนดไว้ และยังถือได้ว่าจำเลยที่ 7 อาจก่อให้เกิดอันตรายประการอื่น จึงมีเหตุสมควรที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7 จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 7
แต่ทั้งนี้ในการอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 8 , 12 - 24 ศาลมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวในระยะเวลาที่ต่างกัน
เงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขอนุญาตการปล่อยชั่วคราวจำเลยดังกล่าวเสียใหม่ โดยให้มีเงื่อนไขเดียวกันว่า ห้ามจำเลยที่ 1 , 2 , 6 , 8 , 12 - 24 กระทำการใดๆอันมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในบ้านเมือง หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย กระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงและความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการใดๆเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยดังกล่าวเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำเลยที่ 1, 2 , 6, 8 , 12-24 ที่ศาลพิจารณากำหนดเงื่อนไขใหม่ ประกอบด้วย
ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ , นายจตุพร พรหมพันธุ์ , นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา , นายนิสิต สินธุไพร , นายสุขเสก หรือ สุข พลตื้อ , นายจรัญ หรือ ยักษ์ ลอยพูล ,นายอำนาจ อินทโชติ , นายชยุต ใหลเจริญ , นายสมบัติ หรือแดง หรือผู้กองแดง มากทอง , นายสุรชัยหรือหรั่ง เทวรัตน์ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ( ดีเอสไอ) ขออายัดตัวไว้ในคดีครอบครองอาวุธสงคราม , นายรชตหรือกบ วงค์ยอด , นายยงยุทธ ท้วมมี ,นายอร่าม แสงอรุณ หัวหน้าการ์ด นปช, นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์ ,นายสมพงษ์ หรือ อ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม และนายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง กลุ่มการ์ด นปช. , นายอริสมันต์ หรือกี้ พงศ์เรืองรอง
ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จำเลยที่ 3 , นายเหวง โตจิราการ จำเลยที่ 4 , นายก่อแก้ว พิกุลทอง จำเลยที่ 5 , นายการุณ หรือ เก่ง โหสกุล จำเลยที่ 9 , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท จำเลยที่ 10 ,นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง จำเลยที่ 11 ศาลนัดสอบถามข้อเท็จจริงการพิจารณาเพิกถอนประกัน ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.