เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 สิงหาคม ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก (ทบ.)
แถลงถึงกรณีที่ พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน ออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ว่า ขอชี้แจงกรณีที่หัวหน้าชุดสอบสวนระบุว่า จะเรียกทหารสไนเปอร์ในภาพชุดมาสอบสวนนั้น ยืนยันว่า คลิปดังกล่าวเป็นภาพชุดพลระวังป้องกันถืออาวุธประจำกายปืนเอ็ม 16 อยู่ในท่าตรวจการณ์ด้วยกล้องที่ติดอยู่กับตัวปืน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตามท้องตลาด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการมองเห็น ไม่ใช่อาวุธสไนเปอร์แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กองทัพบกขอบคุณนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่เข้าใจความรู้สึกของกองทัพ แต่ในส่วน พ.ต.อ.ประเวศน์ที่ระบุว่า ที่ผ่านมากองทัพไม่ได้ส่งข้อมูลหลักฐานที่ทหารอ้างว่ามีชายชุดดำทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร และฆ่าประชาชน ทั้งนี้ ภายหลังจากที่เหตุการณ์สิ้นสุดลง ทางกองทัพได้รวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องส่งมอบให้พนักงานสอบสวนไปหมดแล้ว เช่น กรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารถืออาวุธประจำกายที่เรียกว่า พลระวังป้องกัน
ซึ่งเหตุการณ์ขณะนั้นชุลมุนมีทั้งชายชุดดำและผู้ไม่หวังดีปะปนกับผู้ชุมนุมตลอด
และใช้อาวุธยิงไปในสถานที่ต่างๆ สื่อมวลชนก็รับทราบ ขณะนั้นเราอธิบายชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่เป็นพลระวังป้องกัน ไม่ได้มีจุดประสงค์ดักซุ่มยิงหรือทำร้ายใคร แต่มีหน้าที่ตรวจการณ์ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชน เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จึงมีความจำเป็นต้องใช้อาวุธ
พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ส่วนหลักฐานที่กองทัพบกได้ส่งให้พนักงานสอบสวน เช่น เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
ที่กองทัพบกนำเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยใบปลิวเพื่อยุติการชุมนุม ขณะนั้นได้มีการยิงอาวุธขึ้นไปบน ฮ. เมื่อเหตุการณ์จบลง เราได้มีการจับกุมผู้กระทำความผิด 3 ราย ยึดของกลางได้จำนวนมากทั้งอาวุธสงคราม เอ็ม 16 ปืนอาก้า กระสุนปืนความเร็วสูงเป็นพันนัด ซึ่งเราได้ส่งหลักฐานให้พนักงานสอบสวนไปแล้ว แต่ปรากฏว่าการพิจารณาของศาลมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยระบุว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีหลักฐานประกอบ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ปฏิบัติงานตามกฎหมายต้องการได้รับความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน จึงอยากถามว่าเอกสาร หลักฐานที่ส่งมอบให้พนักงานสอบสวนหายไปไหน เหตุใดไม่ได้นำมาประกอบหลักฐานในการพิพากษา ทั้งนี้ ไม่อยากระบุว่า เป็นความผิดของใคร เพียงแต่ต้องการตั้งข้อสังเกตว่าผู้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีความ ระบุว่าทหารไม่ได้นำหลักฐานไปให้เลย แต่ความจริงเราได้ให้ไปแล้ว ซึ่งสมัยนั้นนายธาริตก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ร่วมประชุมทุกครั้ง รับรู้เหตุการณ์ และร่วมกันตกลงใจ และตัดสินใจมาโดยตลอด ซึ่งน่าจะทราบเหตุการณ์ดีว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำอะไรลงไปบ้าง
"ส่วนกรณีที่ของชายชุดดำที่นั่งรถตู้สีขาวเข้ามาที่บริเวณสี่แยกคอกวัวและใช้อาวุธสงครามยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่จนทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนมากและเสียชีวิต โดยกองทัพให้รายละเอียด ข้อมูลทั้งหมดกับพนักงานสอบสวนไปแล้ว ทั้งทะเบียนรถ ชื่อเจ้าของรถ เชื่อว่าน่าจะเชื่อมโยงหาผู้กระทำความผิดได้ แต่เรื่องกลับเงียบหายไปอีก กองทัพบกหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พนักงานสอบสวนจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่กองทัพบกส่งไปให้ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหวังว่าคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2553 ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถูกกล่าวหา และเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายถูกกระทำให้มีความคืบหน้าในลักษณะใกล้เคียงกัน อย่าเน้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่เกิดความไม่สบายใจ เพราะคดีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้ถูกกระทำไม่คืบหน้า แต่คดีที่เจ้าหน้าที่ตกเป็นผู้ต้องหากลับคืบหน้า" โฆษกกองทัพบกระบุ
พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า กองทัพบกไม่ได้รู้สึกเสียเปรียบ หรือต้องการได้เปรียบใคร เราไม่ต้องการทำร้ายประชาชน
แต่วันนี้ผู้เกี่ยวข้องดูเหมือนจะเร่งรัดคดีทางด้านหนึ่ง และไม่คืบหน้าอีกด้านหนึ่ง ปัจจุบันทหารที่บาดเจ็บและตายจากเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าวก็อยากได้รับความยุติธรรมเช่นเดียวกับทุกฝ่าย ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในรูปคดีมีความมั่นคง และยุติธรรมตามหลักการก็ไม่น่ากังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง