วันนี้ ( 9 ส.ค.) เมื่อเวลา11.45 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1
ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดของ นายสุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ปัญหายางพาราราคาตกต่ำ” โดยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายมาตอบกระทู้ถามสดแทน โดยนายสุกิจ กล่าวว่า ทันทีที่นายณัฐวุฒิรับตำแหน่งก็ประกาศว่าจะทำให้ราคายางอยู่ที่120 บาทต่อกิโลกรัมโดยเร็ว แต่ปรากฏว่า ล่าสุดเช้าวันนี้ (9 ส.ค.)ราคายาง จ.ตรังอยู่ที่ 70-75 บาทต่อกิโลกรัม ไม่เป็นไปตามที่พูดไว้ ชาวบ้านคาดหวัง 7-8 เดือนจะทำได้จริง วันนี้จึงต้องมาทวงสัญญา เมื่อทำไม่ได้ตามสัญญาจะรับผิดชอบอย่างไร
นายณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า ต้องฟังข้อเท็จจริงว่า มีการประชุมคณะกรรมการราคายาง
ซึ่งตัวแทนเกษตรกรได้เสนอต่อที่ประชุมให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือให้ราคายางอยู่ที่120 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ตรงกับวันแรกที่ตนทำหน้าที่ รมช.เกษตรฯ จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามารับตำแหน่ง ทั้งนี้ยอมรับว่าราคายางพาราของรัฐบาลชุดที่แล้วช่วงปี 52-53 สูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยภายนอกประเทศ แต่แนวโน้มยางพาราตั้งแต่ปี 54 ถึงขณะนี้เป็นขาลง เนื่องจากเกิดวิกฤตยูโรโซน ตนได้กำชับต่อที่ประชุมยางพารา เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ให้ขยายจุดรับยางพาราเพิ่มขึ้น และทำความเข้าใจกับประชาชน
นายสุกิจ ถามต่อว่า นายณัฐวุฒิพูดเหมือนแถลงนโยบายรัฐบาล ไม่จริงใจแก้ปัญหา ประชาชนอยากให้ลาออก
เพราะประเทศชาติสูญเสียรายได้ไปแล้วกว่า1 แสนล้านบาท หากเทียบกับราคายางที่120 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับราคายางที่พรรคประชาธิปัตย์ทำไว้140 บาทต่อกิโลกรัม ประเทศก็สูญเสียเงินไปแล้ว 2แสนล้านบาท วันนี้เกษตรกรปิดถนนมากี่ครั้งแล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาอะไรบนท้องถนน อีกทั้งการที่ครม.เมื่อวันที่ 16 ก.ค.อนุมัติเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท มาอุ้มราคายางพารา ก็ปรากฏว่า ผ่านมา2วันคือ วันที่ 18 ก.ค.บอกว่าราคายางจะขึ้นมาที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขณะนี้ผ่านมาเกือบเดือน ราคายางก็ยังไม่ถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม ถือว่าวิธีการล้มเหลว เป็นการถมเงินมาแก้ปัญหาหรือไม่
ซึ่งนายณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า วันที่ 18ก.ค.นั้น ตนพูดจริงว่า ราคายางจะอยู่ที่100บาทต่อกิโลกรัมทันทีที่ครม.อนุมัติเงิน
ซึ่งเราก็มีการซื้อยางเข้ามาหลายพันตันต่อวัน ส่วนที่บอกว่าตนมีฝีมือหรือไม่ตนก็น้อมรับ แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลชุดที่แล้วแก้ปัญหาราคายางตกต่ำให้สูงขึ้น เพราะไม่มีปัญหาเศรษฐกิจภายนอก ทำจากปี52 ถึงธ.ค.53 ราคายางทะลุ 180 บาทต่อกิโลกรัมก็ใช้เวลา 24 เดือน ซึ่งการทำงานก็ขึ้นกับช่วงเวลา สถานการณ์ และปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ขณะนี้ยืนยันว่า รัฐบาลกำลังทำงานกันอยู่ มีการเจรจากับหลายประเทศเช่น จีน อินเดีย เป็นต้น
นายสุกิจ ถามต่อว่า ตนแปลกใจที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจบอกว่า ปัญหาวิกฤตยูโรโซนไม่กระทบประเทศไทย
แสดงว่า ใครพูดโกหก อยากถามว่า จะขอเวลาทำงานนานเท่าใดเพื่อสร้างความชัดเจนให้เกษตรกร นายณัฐวุฒิ ชี้แจงว่า ยังสรุปไม่ได้ เพราะยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ แม้บ้านตนไม่มีสวนยางสักต้นเดียว แต่ประชาชนทุกภาค ต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน
“หากเรายังทำอะไรไม่สำเร็จแล้วต้องลาออก สมมติว่า เราชั่งไข่ขายเป็นกิโล แล้วทำไม่สำเร็จแบบนี้ก็ต้องลาออก หรือถ้าให้ไปกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน ผมคงไม่ทำ เพราะถ้าต้องไปบอกว่า ต้องทำให้สำเร็จภายใน 99 วัน แล้วทำไม่ได้จะทำอย่างไร" นายณัฐวุฒิกล่าว.