กฎหมายที่ดี
ภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่ คำวินิจฉัยส่วนตัวในคดีที่มีผู้ร้องเรียนว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างการปกครอง ผู้ติดตามคำวินิจฉัยดังกล่าวทั้งคำวินิจฉัยส่วนกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวจำนวนหนึ่ง แสดงความเห็นว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาและยังสร้างความสับสนในทางปฏิบัติ
อาทิ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนระบุว่า คำวินิจฉัยส่วนตน 8 ตุลาการ ระบุไม่สอดคล้องเนื้อหาคำวินิจฉัยกลางฉบับศุกร์ 13
เพราะไม่มีตุลาการแม้แต่คนเดียวที่เห็นว่ารัฐสภา ควร ทำประชามติถามประชาชนก่อน
ในประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตุลาการ 2 คนก็ให้แก้ได้แต่ต้องทำประชามติ อีก 2 คนบอกทำไม่ได้ แต่อีก 1 คนให้ทำได้
ส่วนเหลืออีก 3 เสียง ระบุว่าศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัย
ในที่ประชุมครม.สัญจรที่ จ.สุรินทร์ นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รายงานสรุปคำวินิจฉัยกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า
โดยหลักการคำวินิจฉัยส่วนตัวต้องออกก่อนคำวินิจฉัยส่วนกลาง แต่ครั้งนี้เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัวภายหลัง
นอกจากนั้น คำวินิจฉัยที่ออกมาขัดแย้งกันเอง เนื่องจาก 8 ตุลาการฯ นั้นมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจนเพียง 4 คน ส่วนอีก 4 คนกลับไม่มีการวินิจฉัย
จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรูปแบบแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือเดินหน้าลงมติในวาระ 3 ควรรอผลการศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตัวอีกครั้ง
ยังไม่ต้องเร่งรีบแก้รัฐธรรมนูญ
ประเด็นหนึ่งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ควรทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไป
ก็คือเหตุใด กฎหมายซึ่งโดยหลักแล้วจะต้องชัดเจน เป็นมาตรฐาน ไม่เกิดข้อถกเถียงตั้งแต่หลักการถึงการปฏิบัติ ทำไมจึงทำให้เกิดความสับสน เกิดข้อโต้แย้งสงสัยได้มากถึงเพียงนี้
เป็นความผิดปกติของสังคมที่มีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายน้อยเกินไป หรือเป็นปัญหาของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ที่บิดเบี้ยวไปจากหลักการเพราะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง
จนไม่ตรงไปตรงมาเช่นที่ควรจะเป็น?