ศาลรธน.แพร่คำวินิจ ฉัยส่วนตน 8 ตลก.ชี้แก้รธน.ไม่ล้มปค.
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ศาลรธน.แพร่คำวินิจ ฉัยส่วนตน 8 ตลก.ชี้แก้รธน.ไม่ล้มปค.
ศาลรัฐธรรมนูญ แพร่คำวินิจฉัยส่วนตน 8 ตุลาการ 69 หน้า ชี้ แก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ล้มการปกครองฯ รอตีพิมพ์ลงราชกิจจานุเบกษาสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ได้แพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการทั้ง 8 คน ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายชัช ชลวร นายนุรักษ์ มาประณีต นายเฉลิมพล เอกอุรุ นายจรูญ อินทจาร นายบุญส่ง กุลบุปผา นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ซึ่งเนื้อหาโดยรวมมีทั้งสิ้น 69 หน้า ให้ยก 5 คำร้อง ของผู้ร้อง ชี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำวินิจฉัยส่วนตนดังกล่าวจะถูกส่งไปตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
นายกฯรอทีมกม.ดูวินิจฉัย แก้รธน.คาดชัดก่อน1ส.ค.
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ รอฟังคำชี้แจงคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ จากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ฝ่ายกฎหมาย สรุปก่อน เนื่องจากตนยังไม่ได้ออ่านรายละเอียดในคำวินิจฉัยกลาง ขณะที่ยังไม่ทราบว่าจะได้ข้อสรุปในแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในที่ประชุมสัมมนาพรรคเพื่อไทย โดย นายกรัฐมนตรี เชื่อว่า รัฐบาลคงต้องมีแนวทางที่ชัดเจนบ้างแล้ว ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนจะมีการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ ซึ่งจะให้ทางสภาเป็นผู้ตัดสินใจ และหารือร่วมกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร
ส่วนกรณีที่มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงนั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มีการปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริงแต่อย่างใด โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาปกปิด ซึ่งต้องขอความเห็นใจแก่เจ้าหน้าที่ด้วย เนื่องจากการวินิจฉัยต้องรอให้ถูกต้อง ชัดเจน รอบคอบ ก่อนจะชี้แจงต่อประชาชน เพราะเกรงว่าบอกเร็วเกินไป ประชาชนอาจตื่นตระหนกได้
พท. ฟันธง แก้ รธน. 28 ก.ค.
นายอุดมเดช รัตนสเถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.อ็น. ว่า ทางพรรคจะนำคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญเข้าหารือในงานสัมมนา วันที่ 28-29 ก.ค.นี้ ส่วนรายละเอียดในวันดังกล่าวนั้น ยังไม่ทราบว่าจะเป็นอยู่ในทิศทางใด เนื่องจากยังไม่มีการหารือ แต่ทางพรรคได้ทำข้อสรุปไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งในเรื่องของการแก้ไข
เป็นรายมาตรา และการทำประชามติ ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรบ้าง ดังนั้น คำวินิจฉัยกลางที่ออกมาวานนี้ จึงเป็นการดูรายละเอียดเนื้อหาอย่างชัดเจนเท่านั้น
"ก็ยังไม่ได้คุยกันไง ก็เลยยังไม่รู้ว่าตกลงจะเอายังไง ถึงแม้ว่าจะมีคำวินิจฉัยกลางออกมา ก็เป็นการดูให้ชัดเจนเท่านั้นเอง ว่าคำวินิจฉัยกลางตกลงมันอกมาอย่างไร" นายอุดมเดช กล่าว
นอกจากนี้ นายอุดมเดช ยังเปิดเผยว่า หลังจากที่ทางพรรคได้ทำการหารือภายในเสร็จสิ้นแล้ว จะเชิญพรรคร่วมรัฐบาล หาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ก.ค. นี้ต่อไป
'สุนัย' เผย เตรียมถกแก้รธน. 28-29 ก.ค. นี้
นายสุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เรื่องแก้รัฐธรรมนูญนั้น พรรคจะหารือเรื่องดังกล่าว ในวันเสาร์ที่ 28-29 ก.ค. นี้ ในงานสัมมนา "ทิศทางการทำงานการเมืองของพรรคเพื่อไทย" ที่โรงแรม แอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี เพราะเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญมากที่จะต้องผ่านความเห็นของที่ประชุมก่อน พร้อมมองว่าแม้คำวินิจฉัยกลางจะออกมาแล้ว ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะมีความคลุมเคลือมาตั้งแต่ต้น พร้อมยืนยัน ทางพรรคไม่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 ในมาตรา 8-25 อย่างแน่นอน
"พรรคจะประชุมใหญ่วันเสาร์นี้ครับ เป็นเรื่องสำคัญนะครับ คงต้องผ่านความเห็นของที่ประชุมใหญ่" นายสุนัย กล่าว
นอกจากนี้ นายสุนัย ยังเปิดเผยว่า การเมืองไทยในขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในเรื่องหลักเกณฑ์ของกฎหมายแล้ว แต่เป็นเรื่องของสถานการณ์เข้ามาทดแทน
'วิรัตน์' ชี้ รบ. อยู่ยาก หากดื้อวาระ 3 แก้ รธน.
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรค ยืนยันกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพัน และมีความชัดเจน ดังนั้น นายกรัฐมนตรี จะอ้างไม่ทราบไม่ได้ เพราะจะมีผลทำให้รัฐบาลอยู่ได้ยากขึ้นหากทำไม่ถูกวิธี ทั้งนี้เชื่อว่า เป็นไปได้ยากยิ่ง หากจะมีการลงมติวาระ 3 แล้วจะครบองค์ประชุม และรัฐบาลก็ทราบดีว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการลงมติจริง ส่วนตัวก็จะไปยื่นคำร้องต่อศาลอีก โดยใช้สิทธิ์เกี่ยวพัน
'อุดมเดช' ปัด 'ทักษิณ' ส่งซิกร่างปรองดอง
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาลเปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ตามคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา พรรคจะมีการประชุมกันวันที่ 28 - 29 กรกฎาคมนี้ เพื่อจะหาข้อสรุปตามแนวทาง 2 - 3 แนวทาง จากนั้น ในวันที่ 31 กรกฎาคม จะหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล
ทั้งนี้ นายอุดมเดช ย้ำว่า หากมีการลงมติวาระ 3 จะเป็นการเปิดทางที่ง่ายมากให้มีผู้ร้องเรียนต่อศาลอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนก็กังวล และส่วนตัวก็เชื่อว่า จะต้องโดนร้องเรียนแน่นอนอยู่แล้ว และจะมีผลที่ทำให้การแก้รัฐธรรมนูญต้องหยุด
นอกจากนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 สิงหาคม นั้น นายอุดมเดช กล่าวว่า ได้รับการประสานมีการหารือกัน เพื่อเร่งพิจารณากฎหมาย ประมาณ 10 ฉบับ ที่ผ่านการพิจารณาจากกรรมาธิการ แล้ว โดยไม่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปรองดอง ซึ่งจะหารือวิธีที่จะขยับการพิจารณาออกไป และ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ส่งสัญญาณเรื่องนี้มาแต่อย่างใด
'เฉลิม'ย้ำเดินหน้าข้อเสนอแก้รธน.5ข้อ
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากที่มีคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ตนมีความเห็นว่า การที่คำวินิจฉัยกลางออกมาก่อนคำวินิจฉัยส่วนตัวนั้น เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะดูไม่โปร่งใสและเป็นการขัดขวางการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใน 2 ข้อ และไม่เห็นด้วยอีกใน 2 ข้อ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ตนมาจากการเลือกตั้ง แต่ถ้าหากให้ตุลาการทั้ง 9 คน มากำหนดทิศทางของประเทศนั้น ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะกระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญตามจากกระบวนการของศาลยุติธรรม จึงเห็นว่าควรควบรวมศาลรัฐธรรมนูญให้ไปอยู่ในแผนกหนึ่งของศาลฎีกา ทั้งนี้ ตั้งใจจะเดินหน้าข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของตน ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา และลดอำนาจขององค์กรอิสระ ในวันพรุ่งนี้ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ จ.ชลบุรี เพื่อหาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้งยืนยันว่า หากพรรคจะเดินหน้าวาระ 3 ต่อไป ตนจะไม่ลงคะแนนเสียง และเชื่อว่ารัฐบาลจะมีปัญหาอย่างแน่นอน
ทีมกม.พท.ชี้คำวินิจฉัยกลางศาลรธน.ยังไม่ชัด
นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการที่ได้อ่านคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า ยังไม่มีความชัดเจน และไม่แตกต่างจากคำตัดสินเมื่อวันที่ 13 ก.ค. นอกจากนี้ อย่าใช้คำว่าควรจะ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ว่าสิ่งใดที่สามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ โดยส่วนตัวเห็นว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเสาหลักทางประชาธิปไตย ก็ควรจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ แต่คำวินิจฉัยที่ออกมา กลับเป็นข้อถกเถียงของนักวิชาการ นักกฎหมาย ทำให้เกิดการตีความเข้าข้างแต่ละฝ่าย ส่วนแนวทาง ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งเชื่อว่า แนวทางที่ออกมา จะเป็นการหาทางออกที่ประชาชนเข้าใจมากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความแตกแยกในสังคม
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!