นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แถลงที่พรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ถึงกรณีนายเสนาะ เทียนทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ระบุว่า
พ.ต.ท.ทักษิณต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราว่า เป็นเพียงการพูดคุยกันระหว่างรับประทานอาหารด้วยกันเท่านั้น ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้ข้อสรุป แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ถือเป็นความมุ่งหมายของเรา
หากมีอุปสรรคที่ทำให้แก้ทั้งฉบับไม่ได้ ก็ต้องมาแก้อุปสรรคก่อนทั้งทางกฎหมายเหล่านั้น เพื่อที่จะบรรลุจุดประสงค์ใหญ่ไปให้ได้ คนที่กดปุ่มแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับคือ พรรคเพื่อไทยไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณที่มีข่าวออกมาแบบนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของพ.ต.ท.ทักษิณ พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องทำตามนั้น
“การแก้รัฐธรรมนูญจะออกมายังไงก็ต้องมาดูในการสัมมนาพรรคเพื่อไทยวันที่ 28-29 ก.ค.นี้ที่จ.ชลบุรี และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำไปหารือดูความคิดเห็นของพรรคร่วมรัฐบาลวันที่ 31 ก.ค.อีกครั้ง ผมไม่อยากให้ข่าวที่ออกมาว่าพ.ต.ท.ทักษิณให้แก้เป็นรายมาตรา เป็นคำสั่งที่พรรคเพื่อไทยต้องทำตามที่ออกมาพูด เพื่อต้องการให้เกิดความกระจ่างเท่านั้นพ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็น ท่านอาจเห็นว่าหากมีเรื่องใดในรัฐธรรมนูญที่บกพร่องก็ต้องแก้ไขไป” นายนพดล กล่าว
เมื่อถามว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่พรรคเพื่อไทยทำตามความคิดเห็นของพ.ต.ท.ทักษิณ นายนพดล กล่าวว่า ต้องแยกออกจากกันระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยตอนหาเสียง ตนยอมรับว่าตอนหาเสียงนั้น “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ” ซึ่งตอนหาเสียงก็ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าพรรคเพื่อไทยจะแก้รัฐธรรมนูญ 2550
ถามต่อว่า การแก้รัฐธรรมที่ต้องแก้เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรแก้มาตราใด นายนพดลกล่าวว่า แน่นอนคือมาตรา 68 ที่ต้องมีการแก้ไข เพราะที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามาตรานี้ ศาลสามารถรับเรื่องได้โดยตรง และมีการใช้อำนาจเข้ามาแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมาระบุว่าอันนี้แก้ได้อันนี้แก้ไม่ได้ ซึ่งที่ต้องแก้ไขนี้ควรกำหนดกรอบอำนาจให้ชัดเจนควรเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ นายนพดลยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตยออกมาเรียกร้องให้ถอนพ.ร.บ.ปรองดองออกจากสภาฯว่า ตนเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาลจะดำเนินการให้เกิดความเหมาะสม ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งนี้ กลุ่มพันธมิตรฯมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ขอให้อยู่ในความสงบ อยู่ในกรอบของกฎหมาย และรัฐบาลควรรับฟังไม่มีสิทธิมากกำหนดทุกอย่างของประเทศได้ เพราะไม่ใช่เสียงข้างมากในสภาฯ