จากกรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)
มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรังให้กลายเป็นป่าดิบทั้งประเทศ เพื่อให้ป่ามีคุณสมบัติดูดซับน้ำ เพิ่มศักยภาพในการป้องกันปัญหาน้ำท่วมนั้น ล่าสุดวันนี้ (19 ก.ค.) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปกติป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังมีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำอยู่แล้ว คือประมาณ 700-800 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ โดยป่าดังกล่าวยังมีการผลัดใบตามฤดูกาล อาจจะเสียคุณสมบัติไปบ้างเมื่อเกิดไฟป่าหรือมีการบุกรุกทำลาย สิ่งที่จะต้องแก้ปัญหาคือการปลูกพืชชนิดเดียวกันเข้าไปเสริม การจะเปลี่ยนให้เป็นป่าดิบอาจจะทำได้ แต่ต้องใช้เวลานานมาก
ด้านนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า
การจะไปเปลี่ยนสภาพธรรมชาติที่มีอยู่อาจจะทำได้ แต้ตองใช้เวลานานและเป็นเรื่องยาก แนวคิดของนายปลอดประสพนั้นจะเปลี่ยนพื้นที่ป่าโดยใช้พันธุ์ไม้เพียงอย่างเดียวไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสภาพพื้นที่ป่าแต่ละประเภทต้องขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและธรณีวิทยาด้วย ไม่มีทางเปลี่ยนป่าเบญจพรรณหรือป่าเต็งรังที่อยู่ในเขตเงาฝนให้เป็นป่าดิบได้เลย เพราะว่าไม่มีปัจจัยทางธรรมชาติเข้ามาช่วย และแม้ว่าเปลี่ยนได้จริงๆ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ คือการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพจะเปลี่ยนแปลงไป
สิ่งที่ควรจะทำและทำงานคือการเปลี่ยนพื้นที่ทำการเกษตร ให้มีคุณสมบัติในการดูดซับน้ำให้มากขึ้นจะดีกว่า เพราะว่านอกจากประหยัดงบประมาณแล้ว ประชาชนยังได้ประโยชน์ด้วยและทำได้ง่าย เม็ดเงินสำหรับโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่จะเข้าถึงมือประชาชนอย่างแท้จริงด้วย.