วันนี้ ( 15 ก.ค. ) ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติราษฎร์:นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ได้จัดแถลงข้อเสนอทางวิชาการ “การยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” โดยมีมวลชนเสื้อแดงเข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก ทั้งนี้นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนมีข้อเสนอ 5 ข้อคือ 1. เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 1 ส.ค. ให้รัฐสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยโหวตวาระ 3 ทันที 2. ยอมให้ร่างแก้ไขตกไป ด้วยวิธีการใดก็ตาม เช่นโหวตแล้วเสียงไม่ถึงเป็นต้น 3.ชะลอลงมติแล้วไปทำประชามติ 4.ปล่อยให้เป็นอย่างนี้แล้วไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรา 68 เสนอเรื่องแก้ไของค์กรอิสระ และ 5.ไม่ทำอะไรแล้วไปนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าเปิดสภาโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3
"เรื่องนี้ต้องมีคนฟ้องอยู่แล้ว เพราะเราอยู่ในประเทศที่มีคนไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประโยชน์ต่อคนจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน แต่อยากถามว่า ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะมีใครตายหรือไม่ " นายวรเจตน์ กล่าว
ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า ข้อเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญทิ้งไปแล้วให้มีองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
โดยเราเสนอให้มีคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ให้ลดจำนวนคณะตุลาการฯ ลงเหลือ 8 คน เพื่อให้การโหวตชนะกัน 2 เสียงขึ้นไปตามหลักการของประเทศเยอรมัน แต่ถ้ามีมติออกมาเป็น 4:4 ก็ให้คำร้องนั้นตกไป
ส่วนที่มาของคณะตุลาการฯ ให้มาจากสัดส่วนการคัดเลือกของสภาผู้แทนราษฎร 3 คน วุฒิสภา 2 คน และ ครม.หรือฝ่ายบริหาร 3 คน
และมีข้อเสนออีกว่า ในจำนวน 3คนที่มาสภาผู้แทนราษฎรฯ และ 2 คนที่มาจากวุฒิสภา หนึ่งในนั้นต้องเป็นหรือเคยเป็นศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด ซึ่งจะทำให้ในจำนวนคณะกรรมการตุลาการฯ 8 คนมีตัวแทนผู้พิพากษาเข้ามาอย่างน้อย 2 คน
“อย่างไรก็ตามมีข้อห้ามว่าคณะตุลาการฯ ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 หรือดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2549 และประกาศ คปค. ทุกฉบับ รวมทั้งให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งเพียง 7 ปี และอยู่ได้เพียงวาระเดียว ที่สำคัญมีข้อห้ามคือห้ามไม่ให้คณะกรรมการตุลาการฯ กระทำการใดขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในทุกขั้นตอน อย่างไรก็ตามจะมีคำถามว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งแล้ว คดีค้างเก่าจะทำอย่างไร ก็ให้พักไว้ก่อนจนกว่าจะมีคณะกรรมการตุลาการฯ ขึ้นมาทำหน้าที่ภายใน 30 วัน”นายปิยบุตรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนิติราษฎร์ ได้มีข้อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและจัดตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ
โดยมีเนื้อหาระบุว่า การขยายอำนาจหน้าที่เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้การใช้อำนาจตีความรัฐธรรมนูญที่ผิดพลาดโดยเฉพาะการใช้อำนาจที่มีผลยับยั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภา โดยที่รัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกเซงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ไม่ว่าจะขั้นตอนใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายแดนอำนาจของตนออกไปจนกลายเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญและอยู่เหนือองค์กรของรัฐทั้งปวง มีผลทำลายหลักนิติรัฐประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง