สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ชี้ไม่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สรุปคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ชี้ไม่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย


เมื่อ 13 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุ ในประเด็นที่ 1 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าศาลรัฐธรรมนูญ


มีอำนาจรับคำร้องโดยตรงจากบุคคลได้ตาม มาตรา 68 ตามสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าการที่ อัยการสูงสุดไม่ส่งคำร้อง ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ ประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าตาม มาตรา 291 ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ ควรให้ประชาชนทำประชามติก่อนว่าต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือแก้รายมาตราโดยสภา

 

 ประเด็นที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อ มาตรา 68 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะร่างที่ผ่านวาระ 2 ไปในมาตรา 291/11 มีเขียนป้องกันไว้แล้ว ส่วนประเด็นสุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ขัดต่อ มาตรา 68 ไม่ต้องตัดสินยุบพรรค+ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค เท่ากับศาลวินิจฉัยครบ 4 ประเด็นแล้ว

 

 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้ยกคำร้องทั้ง 5 เนื่องจากข้ออ้างของฝ่ายผู้ร้อง มีข้อเท็จจริงไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญล้มล้างประชาธิปไตย


 ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของคำวินิจฉัย มีดังนี้ 


 เวลา 14.44 น. วันที่ 13 ก.ค. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ไม่เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 โดยศาลรัฐธรรมนูญแบ่งประเด็นในการวินิจฉัย 4 ประเด็นดังนี้


 1.ผู้ฟ้องมีอำนาจในการฟ้องคดีตามมาตรา 68 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 68 การให้สิทธิแก่ผู้ทราบการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 68 สองประการ คือ 1.สามารถให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ 2.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกเลิกการกระทำดังกล่าว ศาลเห็นว่าการแปลความดังกล่าวนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา69


 2.การแก้ไขมาตรา 291 ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับสามารถทำได้หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การตรารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกระบวนการผ่านการประชามติ ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น การแก้ไขจะเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องเจตนารมณ์ 291 เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้มาจากการลงประชามติ จึงควรให้ประชาชนลงประชามติก่อนว่าสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือให้อำนาจรัฐสภาดำเนินการแก้ไข จะเป็นการสอดคล้องเจตนารมณ์มาตรา 291


 3.การแก้ไขมาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291 เป็นไปเพื่อให้มีวิธีการแก้ไขเป็นรายมาตรา และปรับปรุงโครงสร้างการเมืองใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาบกพร่องในตัวรัฐธรรมนูญเอง หากพิจารณาจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้มาจากการแก้ไขมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังที่ผ่านวาระ 2 และเตรียมลงมติในวาระ 3 ของรัฐสภา จะเห็นได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริงที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งยังไม่มีรูปธรรม เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าของผู้ร้อง


 หากพิจารณาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1)วรรค 2 บัญญัติว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำมิได้ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291/11 วรรค 5 ก็ยังได้บัญญัติคุ้มกันไม่ให้กระทบสาระสำคัญของรัฐอีกชั้น


 อย่างไรก็ตาม หากส.ส.ร.ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งประธานรัฐสภาและรัฐสภาก็มีอำนาจยับยั้งให้รัฐธรรมนูญตกไปได้ และผู้ทราบการกระทำดังกล่าวยังสามารถให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68ได้ อีกทั้งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการไต่สวนที่ผ่าน อาทิ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายอัชพร จารุจินดา เลขาคณะกรรมการกฤษฎีกา นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา ล้วนเบิกความว่าไม่ได้มีเจตนารมณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และผู้ถูกร้องยังแสดงเจตคติตั้งมั่นว่าดำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


 พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอวินิจฉัยได้ว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ข้ออ้างทั้งหมดของผู้ร้องเป็นการคาดการณ์ และความห่วงใยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังห่างไกลจะเกิดเหตุขึ้นตามที่กล่าวอ้าง จึงไม่พอฟังได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น ฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 ประเด็นที่ 4 เป็นเหตุให้ยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อไม่กระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้ง 5


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์