วันนี้ ( 12 ก.ค. ) ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)
เพื่อติดตามผลการดำเนินงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ทั้งความคืบหน้าในการจัดเก็บข้อมูลระบบการพยากรณ์ ระบบบริหารจัดการน้ำแบบเบ็ดเสร็จ หรือ single command center การกำหนดพื้นที่รับน้ำนอง และหลักเกณฑ์เยียวยาประชาชน รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อเร่งระบายน้ำและการก่อสร้างคันกั้นน้ำปิดล้อมพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
โดยก่อนการประชุม นายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปติดตามความคืบหน้าและเยี่ยมชมจุดให้ข้อมูล
แจกเอกสารการลงทะเบียนสำหรับการประมูลโครงการตามกรอบแนวคิดเพื่อการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เปิดให้ภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเข้ารับเอกสารกำหนดเงื่อนไขการประมูล ( ทีโออาร์ ) ไปตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมาโดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์ ได้รายงานความคืบหน้า พร้อมยืนยันว่า เอกสารการทำทีโออาร์ และโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมดไม่มีการปิดบัง หากสื่อมวลชน ฝ่ายค้าน รวมทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการทราบข้อมูลรายละเอียด สามารถมาลงทะเบียนเพื่อขอรับสำเนาเอกสารได้
ขณะที่นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ยืนยันเช่นเดียวกันว่า การทำทีโออาร์โครงการป้องกันน้ำท่วมเป็นไปอย่างโปร่งใส
ไม่ได้มีการงุบงิบเหมือนอย่างที่นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา โดยรัฐบาลได้ทำหนังสือเชิญชวนบริษัทเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เข้ามาร่วมเสนอทีโออาร์ เนื่องจากเราต้องการใช้งบอย่างโปร่งใสมากที่สุด และอยากได้ระบบการบริหารจัดการน้ำที่มองแบบภาพรวมทั้งหมด ถ้าเราใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเดียว ก็จะไม่มีประโยชน์สำหรับการบูรณาการอย่างยั่งยืนในระยะยาว เราต้องการคนที่มีความรู้มามองในภาพรวมให้ด้วย เพื่อเชื่อมลุ่มน้ำทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ และดูวิธีการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ รวมถึงแนะนำ เสนอโครงสร้างของการวางแนวเขื่อน ลุ่มน้ำ ฟลัดเวย์ และการทำแก้มลิงต่าง ๆ ซึ่งบริษัทที่ได้เสนอทีโออาร์จะต้องไปดูทั้งสิ่งที่เรามีอยู่เดิม และเสนอใหม่ แต่สาระสำคัญคือเราจะยึดตามแนวพระราชดำริ คือต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และต้องทำตามแผนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ที่ได้นำเสนอต่อประชาชนไว้
“ขอให้สื่อมวลชนเข้ามาดูและตรวจสอบได้เลย เพราะนี่เป็นงานของประเทศที่ทุกคนควรจะได้มีส่วนรับรู้ และแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งรายละเอียดของโครงการทั้งหมดเรามีชัดเจนแล้ว แต่ที่เปิดให้ทำทีโออาร์เพื่อจะให้ได้ข้อมูลที่ดีขึ้นในการเชื่อมต่อทั้ง 25 ลุ่มน้ำเข้าด้วยกัน นี่คือจุดสำคัญที่เราหวังไว้ และหลังจากนี้ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งมาจากหัวหน้าส่วนราชการที่รับผิดชอบตามกฎหมาย เช่นกรมชลประทาน สภาพัฒน์ฯ เข้ามาตรวจสอบ ยืนยันว่าโครงการนี้โปร่งใสแน่นอน พร้อมให้ข้อมูล และสามารถชี้แจงกับสื่อมวลชนได้ทุกขั้นตอน รวมทั้งยินดีรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ด้วย” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว